- 90 views
สช.ระดม “กขป.” 12 เขตสุขภาพ จัดเวทีสร้างเครือข่ายด้านสื่อสุขภาวะ ร่วมวางแผนงาน-เป้าหมายการขับเคลื่อนด้านสื่อ รองรับกระบวนการนโยบายสาธารณะทั้งในระดับพื้นที่-ประเทศ มุ่งขยายการมีส่วนร่วมเดินหน้าตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับ 3 และ ในช่วงใกล้จังหวะเลือกตั้งใหญ่
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมเครือข่ายด้านสื่อสุขภาวะ กขป. หรือคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ระหว่างวันที่ 2-3 ก.พ. 2566 ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาและบริหารงานสื่อสารสังคมในพื้นที่เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ทั้ง77 จัวหวัด นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ โดยมีตัวแทนจาก กขป. ทั้ง 12 เขตเข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยน พร้อมวางแผนและเป้าหมายการขับเคลื่อนงานสื่อสารในระดับเขตและจังหวัดร่วมกัน
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประเด็นของการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ สุขภาวะ ของทั้ง 12 เขตสุขภาพ มีความแตกต่างกันออกไปตามบริบทและสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามภายใต้กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะต่างๆ จะมีทั้งผลกระทบทั้งทางด้านบวกและด้านลบต่อประชาชนในพื้นที่ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่กลไกกลางอย่าง กขป. จะต้องทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และผลักดันข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไปสู่ประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม
“การทำงานเรื่องของสุขภาพและสุขภาวะบางอย่าง อาจฟังดูเป็นนามธรรม หรือประกอบไปด้วยศัพท์วิชาการ แต่กลไกกลางอย่าง กขป. จะสามารถช่วยกันแปลงสารอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและได้รับประโยชน์จากการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเหล่านี้ ขณะเดียวกันเรายังคาดหวังให้เกิดการเชื่อมโยงภาพเป้าหมายในระดับชาติ ไปสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ตลอดจนการรวมพลังของการสื่อสาร เพื่อสร้างความเท่าทันด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy ตลอดจนความรู้ความเข้าใจในด้านอื่นๆ ที่จะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม” นพ.ปรีดา กล่าว
หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของ สช. ปี 2566 คือการสื่อสารสังคมเชิงรุก โดยเฉพาะงานด้านสุขภาวะที่ สช. กำลังเน้นหนักในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) หรือสิทธิตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ตลอดจนการขยายแนวคิดและขับเคลื่อนทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP) ให้เป็นรูปธรรม เป็นต้น
“ในปีนี้ สช. ตั้งใจที่จะขยายฐานความร่วมมือสื่อทั้งในระดับประเทศ สื่อท้องถิ่น สื่อในกลไก กขป. สมัชชาสุขภาพจังหวัด รวมถึง Influencer ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดภาคีเครือข่ายด้านสื่อที่มีความเข้าใจต่อนโยบายสุขภาวะ สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ และเครื่องมือต่างๆ ภายใต้กระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน นอกจากนี้ยังรวมถึงการสร้างนักสื่อสารสังคมคนรุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มและขยายฐานการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น”
สำหรับเวทีประชุมในครั้งนี้ ตัวแทนจาก กขป. ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศได้ร่วมกันสะท้อนถึงภาพการดำเนินงานด้านการสื่อสารสาธารณะของแต่ละพื้นที่ ซึ่งในหลายเขตพบว่ามีเครือข่ายสื่อสารสุขภาวะในพื้นที่หลากหลายสาขา แต่อาจยังขาดการเชื่อมร้อยประสานการทำงานระหว่างกัน หรือในกลไกการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแต่ละระดับที่อาจมีลักษณะต่างคนต่างทำ วงประชุมจึงได้เห็นร่วมกันถึงความสำคัญในการสร้างภาคีเครือข่ายด้านการสื่อสารเพิ่มขึ้น และร่วมกันกำหนดแผนการทำงานด้านการสื่อสาร ที่สอดคล้องกับบริบทและประเด็นการขับเคลื่อนของพื้นที่ทั้ง 12 เขต พร้อมทั้งสอดรับกับนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมายของการรวบรวมเครือข่ายด้านการสื่อสารในแต่ละเขตสุขภาพ เพื่อเป็นเครือข่ายที่ช่วยในการแลกเปลี่ยน หยิบยกเอาประเด็นปัญหาของแต่ละพื้นที่เข้ามาพูดคุย รวมทั้งนำไปสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปได้ติดตาม รับทราบข่าว และเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาใกล้จังหวะของการเลือกตั้งใหญ่ขณะนี้ ที่ปัญหาต่างๆ อาจถูกหยิบยกขึ้นมาและนำไปสู่การแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศได้
“แน่นอนแล้วว่าประเทศเรากำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งหากนำเอาประสบการณ์จากการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ที่เกิดการเปิดกว้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เข้ามารวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อระดมข้อเสนอ จนเป็นนโยบายที่นำไปสู่การขับเคลื่อนได้ ขณะนี้จึงถือเป็นช่วงจังหวะอันดีที่เราจะสร้างความตื่นตัว สร้างเวทีระดมเสียงของภาคประชาชน สะท้อนปัญหาและความต้องการ เพื่อนำไปสู่การเป็นนโยบายของภาคการเมือง รองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป ยังกล่าวอีกว่า หนึ่งในประเด็นใหญ่ของภาคประชาชนที่อาจผลักดันเข้าสู่นโยบายของภาคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดต่อไป คือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เรื่อง หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่กำลังจะยกระดับจากความสำเร็จของไทยในการมีระบบหลักประกันสุขภาพ ไปสู่การมีระบบหลักประกันรายได้เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน ขณะเดียวกันในปีนี้ยังจะเป็นช่วงจังหวะของการสรรหาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ชุดใหม่ ซึ่งจะต้องมีการสื่อสารเปิดกว้างเพื่อให้ได้ผู้แทนที่มีความสามารถและประสบการณ์ เข้ามาร่วมเดินหน้าภารกิจในการเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพของรัฐบาลได้ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141