- 147 views
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 4 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีสานพลัง พชอ. เสริมสร้างมวกเหล็กเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยภูมินิเวศน์และวิถีชุมชน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 ณ ที่ว่าการอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยมีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 4 เป็นประธานในการจัดงาน ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีนายอำเภอมวกเหล็ก, ผู้แทนเทศบาลตำบลมวกเหล็ก,สาธารณสุขอำเภอมวกเหล็ก,ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมวกเหล็ก,ผู้แทนกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน,ผู้แทนผู้ประกอบการ และประชาชน เข้าร่วมงานกว่า 120 คน
ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเล่าเรื่องเมืองมวกเหล็ก การแสดง “ละครหุ่นธรรมชาติ กลุ่มต้นกล้ามวกเหล็กเด็กรักป่า” ซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จากนั้นมีการบรรยายพิเศษ “มวกเหล็กเมืองน่าอยู่ กับความท้าทายภายใต้บริบทโลกใหม่” โดย ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิชาการอิสระ (อดีตรองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) นำเสนอแนวคิดการพัฒนามวกเหล็กเมืองน่าอยู่ 2025 สุขภาวะที่ดี มีสุขกลมกลืน สดชื่นสิ่งแวดล้อม ปิดท้ายด้วยเวทีเสวนา “การจัดการเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยวิถีชุมชนคนมวกเหล็ก” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสรณต ณ ศรีโต นายอำเภอมวกเหล็ก แพทย์หญิงศิรดา ภูริวัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมวกเหล็ก นายนิติรุจน์ จิรสนองสิทธ์ คลังจังหวัดสระบุรี ประธานคณะทำงานสิ่งแวดล้อม (กขป.) เขตพื้นที่ 4 นายกำพล เทียนขำ ผู้แทนกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน นายพฤฒิ เกิดชูชื่น ผู้แทนผู้ประกอบการ ดำเนินการเสวนาโดย นางสาวจุฑามาศ อุดมศิลป์ (ดีเจเจี๊ยบ)
นายวีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน(กขป.) เขตพื้นที่ 4 กล่าวว่า เพื่อให้เห็นการทำงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากเรื่องที่ทำอยู่เดิม 4 ประเด็น คือเรื่องอุบัติเหตุ สิ่งแวดล้อม ขยะ และผู้สูงอายุ โดยปีนี้ทางพื้นที่จะเน้นประเด็นการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องกับแนวทางในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 3 “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน ทำอย่างไรให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ ประเด็นที่อยากให้ความสำคัญคือเรื่องผู้สูงอายุ ซึ่งในอนาคตประเทศไทยยังประสบกับปัญหา รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกันในพื้นที่
นายสรณต ณ ศรีโต นายอำเภอมวกเหล็ก กล่าวว่า แนวคิดข้อเสนอต่าง ๆ ที่เกิดจากความร่วมกันจากภาครัฐ เอกชน จะเป็นประโยชน์แก่คนมวกเหล็กในอนาคต ที่จะช่วยกันเสริมสร้างมวกเหล็กให้เป็นเมืองน่าอยู่ในทุกบริบท องค์ประกอบของเมืองน่าอยู่ต้องมี 4 ด้าน คือ 1.โครงสร้างของชุมชนคือบ้านเรือนของพี่น้องราษฎร 2.ประชาชนคนอำเภอมวกเหล็ก 3.สภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ภูเขา ป่าไม้ น้ำตก แม่น้ำ 4.สภาพเศรษฐกิจ ที่การเปลี่ยนแปลงไปตามระบบเศรษฐกิจของโลก ในปัจจุบันเราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าระบบทุนนิยมค่อนข้างเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนให้โลกเดินไปข้างหน้า ทำอย่างไรให้มวกเหล็กเป็นเมืองน่าอยู่นั้นต้องอาศัยการพัฒนา การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีความสอดคล้องกันทั้ง 4 ด้าน โดยแนวทางความร่วมมือนี้ จะทำให้เกิดการทำงานอย่างสอดคล้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
แพทย์หญิงศิรดา ภูริวัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมวกเหล็ก กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลสุขภาพของประชาชนคนมวกเหล็ก คนมวกเหล็กมีจำนวนเพิ่มขึ้น ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนก็เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม พบว่าตอนนี้ ประชาชนที่อยู่นอกเขตอุตสาหกรรมไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่แบบเดิมไม่ได้ เนื่องจากว่าถูกผลกระทบโดยตรงคือฝุ่นเยอะขึ้น พบสารที่ก่อให้เกิดก่อมะเร็ง ทำให้การดำรงชีพยากขึ้นในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องควบคุม การค้นหาสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยของการเกิดโรคที่สามารถควบคุมได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย การควบคุมแหล่งที่ผลิตมลภาวะต่างๆ ควรทำอย่างตรงไปตรงมากับการกำกับติดตาม เราต้องกำกับด้วยบทบาทอะไร ส่วนประชาชนต้องทักท้วงสิทธิของตัวเอง จึงต้องมีข้อเสนอของตัวเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ควรเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้ทุกคนอยู่ในบรรยากาศที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้นทุนที่สำคัญของพื้นที่ ฉะนั้นทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
รศ.ดร. สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ รองคณะบดีฝ่ายบริหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มวกเหล็กเมืองน่าอยู่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มองเห็นประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกับ ด้านอุตสาหกรรม บางครั้งมันก็มีทิศทางทางกายจะทำยังไงให้ทั้งด้านอุตสาหกรรมกับทางด้านสิ่งแวดล้อมไปในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้น ความร่วมมือในการสร้างมวกเหล็กเมืองน่าอยู่ ได้ส่งทีมอาจารย์เข้ามาเก็บข้อมูล เพื่อที่จะส่งคืนข้อมูลให้กับทางพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ในเรื่องของมีส่วนร่วมการร่วมขับเคลื่อนคือการให้คำปรึกษาของคณะเรา จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ เพราะฉะนั้นประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมของมวกเหล็ก สามารถที่จะใช้บริการในด้านตรวจสอบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมของทางคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้ โดยในอนาคตทางคณะจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ตามเป้าหมายในการขับเคลื่อนให้มวกเหล็กเป็นเมืองน่าอยู่ต่อไป