‘ชาวพัทยา’ สานพลังเคาะ 2 ฉันทมติเพื่อสุขภาวะ ยกร่าง ‘ธรรมนูญสุขภาพฯ’ วางกติกาฉบับแรก พร้อมจัดการ ‘พื้นที่สาธารณะ’ แบบมีส่วนร่วม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเดิมฉันทมติ “สมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา” ครั้งแรก ภาคีเมืองพัทยาเคาะวางกติการ่าง “ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา” สู่กรอบทิศทางการเป็นเมืองสุขภาวะ-คุณภาพชีวิตดี พร้อมมติ “จัดการพื้นที่สาธารณะทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม” มุ่งให้ความสำคัญคนทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สู่เป้าหมายการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ
 

สมัชชาสุขภาพสากล


เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี สมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 พ.ศ.2565 ภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) “การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ” ซึ่งจัดขึ้นตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เป็นครั้งแรกของพื้นที่ โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ รวมทั้งภาคประชาชน เข้าร่วมอย่างคึกคักกว่า 300 คน

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ที่เข้าร่วมภายในงาน ได้ร่วมกันพิจารณาและมีฉันทมติใน 2 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา เป็นข้อตกลงและพันธะร่วมกันของทุกภาคส่วนในเมืองพัทยา ทั้งคนในชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาครัฐ หรือหน่วยราชการต่างๆ และเมืองพัทยา เพื่อเป็นกรอบทิศทางหรือแนวปฏิบัติในการนำไปสู่การเป็นเมืองสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนต่อไป

2. การจัดการพื้นที่สาธารณะทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม เป็นข้อเสนอที่มุ่งสร้างความเข้าใจที่ ตรงกันต่อความสำคัญของอาชีพและการมีงานทำ การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมที่ให้ความสำคัญกับภาคส่วนต่างๆ ในการประกอบอาชีพและการมีงานทำในพื้นที่ของตัวเองและพื้นที่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงหรือทับซ้อนกัน รวมถึงการกระจายอำนาจ การรวมกลุ่มอาชีพ การมีฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และการขยายผลครอบคลุมการจัดการที่คำนึงถึงอนาคตของเมือง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ภายหลังภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ได้ร่วมกันพิจารณาและมีมติทั้ง 2 ระเบียบวาระดังกล่าวแล้ว ได้มีการส่งมอบมติสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 ให้นายกเมืองพัทยา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและขับเคลื่อนตามมติฯ ต่อไป

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า เมืองพัทยา ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ แต่ท่ามกลางการพัฒนาเมืองที่มีการขยายตัวและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้ก่อให้เกิดปัญหาเดิมและปัญหาใหม่ ทั้งในมิติเชิงเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และข้อจำกัดในเรื่องการบริหารจัดการแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ ในการมีส่วนร่วมในการวางแผน การดำเนินงานและการประเมินผลการทางานร่วมกัน
 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์


นายปรเมศวร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ระบบสุขภาพถือเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นส่วนประกอบจำเป็นที่ทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข โดยเฉพาะการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในพื้นที่เมืองพัทยา ดังนั้นการจัดสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยานี้ จึงเป็นโอกาสดีของการร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สังเคราะห์ข้อมูลบนพื้นฐานทางวิชาการ และได้ออกมาเป็นยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพในพื้นที่ที่สามารถนำมาดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม สู้เป้าหมายของการเป็นเมืองการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพได้ต่อไป

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมัชชาสุขภาพฯ จะทำให้เกิดยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพในพื้นที่เมืองพัทยา ที่สามารถนำมาดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และการรวมพลังในครั้งนี้จะเป็นทางออกของปัญหาสุขภาวะในเมืองพัทยา เพื่อเตรียมการเปิดรับนักท่องเที่ยวและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเมืองพัทยา ที่จะเป็นเมืองการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง” นายปรเมศวร์ กล่าว

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ “นวัตกรรมการมีส่วนร่วมสู่นโยบายสาธารณะขับเคลื่อนเมือง” ระบุว่า พัทยาเป็นเมืองหลวงของการท่องเที่ยวโลก ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาปีละหลายล้านคน อย่างไรก็ตามการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นของพัทยา ทำให้มีหลายคนได้รับประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ในพัทยาที่ไม่ได้รับประโยชน์ไปด้วย อีกทั้งยังอาจได้รับผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพัทยา ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องมาร่วมกันคิด และร่วมกันทำเพื่อให้คนทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จากเมืองพัทยาจริงๆ
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


สำหรับการจัดสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 เป็นการเชิญชวนทุกภาคส่วนในพัทยา ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ชุมชน รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้เข้ามาร่วมกันกำหนดปัญหาออกแบบแนวทางที่จะแก้ปัญหานั้น พร้อมกับการประกาศพันธะสัญญาที่จะร่วมกันรับผิดชอบ และขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ต่อยอดจากเมืองท่องเที่ยว ไปสู่เป้าหมายในการทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า สุขภาพนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการเจ็บป่วย หรือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐบาลเท่านั้น หากแต่สุขภาพนั้นเป็นเรื่องของความสมดุลระหว่างมิติทางร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ที่ต้องสอดรับอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน และสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ได้ทำให้เห็นชัดเจนถึงผลกระทบทางมิติสุขภาพ ที่มีไปถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นเรื่องสุขภาพจึงเป็นได้ทั้งเป้าหมายให้คนในสังคมมีสุขภาพที่ดี และยังเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ สังคม ที่นำไปสู่การเจรจาระหว่างประเทศได้ด้วย

“เมืองพัทยา นับว่าเดินทางมาถูกในการนำเรื่องของการท่องเที่ยวที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่ มาต่อยอดให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน เพราะปัจจุบันเรื่องสุขภาพมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนมากขึ้น และเชื่อมโยงไปยังทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับนโยบายมาถึงระดับพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการคิด ร่วมกันหาคำตอบ ที่สำคัญคือมาร่วมกันสร้างฉันทมติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน จากนั้นคือร่วมรับผิดชอบและขับเคลื่อนมติร่วมกัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา แต่กระนั้นการที่เมืองพัทยาได้เริ่มต้นก้าวแรกของสมัชชาสุขภาพฯ ไปแล้ว ก็จะเป็นก้าวที่สำคัญเพื่อให้ก้าวต่อไปตามมาได้” นพ.ประทีป กล่าว
 

สมัชชาสุขภาพพัทยา

 

สมัชชาสุขภาพสากล

 

สมัชชาสุขภาพพัทยา

 

สมัชชาสุขภาพสากล

 

สมัชชาสุขภาพจังหวัด

 

รูปภาพ
สมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา