การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

สช.จัดเสวนามองการเปิดเมืองกับ “เศรษฐกิจฐานราก” ทิศทางฟื้นฟูหลังโควิด-19 วงถกชี้ความสำคัญ “หาบเร่-แผงลอย” องค์ประกอบของเมืองที่มีชีวิต-ผู้คนมีงานทำ ย้ำความสำคัญการมองภาพอนาคต ปรับตัวกับวิถีใหม่ ใช้การจัดการเชิงพื้นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับ กทม.
 

เศรษฐกิจฐานราก


เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสาธารณะ “เปิดเมืองกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก: การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side Event) ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความเห็นต่อแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการเมือง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก

รศ.ดร.สังศิต
พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เปิดเผยว่า หากพูดถึงเมืองในฝันที่ผู้คนจินตนาการ คือเมืองที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดี มีสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว อากาศที่ดี มีสวนสาธารณะให้ผู้คนออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ขณะเดียวกันคือการมีระบบสาธารณูปโภคที่ดี โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะ ที่จะต้องเดินทางได้สะดวกทั้งคนที่มีร่างกายปกติ รวมไปถึงคนพิการ

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์


รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตามอีกส่วนที่จะเกี่ยวโยงกัน คือเมืองนั้นจะต้องมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี เอื้อให้คนสามารถก่อตั้งธุรกิจได้ง่าย มีสถาบันการเงินที่ช่วยสนับสนุน เช่นเดียวกับระบบราชการ รวมถึงกฎหมายที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ ครอบคลุมไปถึงเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของเมืองอย่างหาบเร่แผงลอย ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ภาคส่วนนี้ความจริงแล้วมีขนาดใหญ่ และยึดโยงกับภาพเศรษฐกิจของประเทศ

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมืองต้องมีชีวิต และเมืองที่จะมีชีวิตก็คือเมืองที่คนมีอาชีพ มีงานทำ ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและต้องมาก่อน เรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบโครงสร้างอื่นๆ ยังจัดการได้ แต่ก่อนอื่นภาครัฐจะต้องส่งเสริมให้คนพร้อมประกอบอาชีพสุจริต สอดคล้องวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้น เมืองแบบนี้จึงจะเป็นเมืองที่มีชีวิต” รศ.ดร.สังศิต กล่าว

รศ.ดร.สังศิต กล่าวอีกว่า ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงในรัฐสภานับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งด่วนข้อแรกคือการสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าในการทำมาหากิน แต่ปรากฎว่าสิ่งที่รัฐบาลแถลง กับสิ่งที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำมากลับสวนทางกัน มีการออกกฎระเบียบต่างๆ ไล่ที่พ่อค้าแม่ค้าด้วยเหตุผลเรื่องของการจราจร และความสวยงาม จึงอยากฝากถึงรัฐบาลว่าได้มีการติดตามดูแลต่อหรือไม่กับนโยบายที่แถลงออกไป

ศ.วุฒิสาร
ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่เราต้องคิดใน 5 ลำดับขั้น ประกอบด้วย 1. Resolve การแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ทั้งในเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา รวมไปถึงการเยียวยา ซึ่งในขั้นนี้ประเทศกำลังให้การทุ่มเทอยู่ 2. Resilience ความพยายามประคับประคองให้ระบบอยู่ต่อไปได้ ไม่ให้สถานการณ์รุนแรง เศรษฐกิจยังพอไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามทำ 3. Return การทำให้กลับมาสู่ภาวะปกติ


อย่างไรก็ตามเมื่อเราไม่รู้ว่าโควิด-19 จะจบลงแบบไหน หรือความปกติจะกลับมาเมื่อไร ขั้นที่สำคัญถัดมาจึงเป็น 4. Reimagine การสร้างจินตภาพใหม่ คิดถึงภาพอนาคตและเตรียมการแก้ไขปัญหาใหม่นี้ เช่น หากการเรียนการสอนในอนาคตต้องใช้ระบบออนไลน์เป็นหลัก เราจะจัดการศึกษาอย่างไรให้ยังคงมีคุณภาพต่อไปได้ หรือการท่องเที่ยวจะเดินหน้าต่ออย่างไร หากไม่มีนักท่องเที่ยวกลับมาขวักไขว่เหมือนเดิม และขั้นสุดท้ายคือ 5. Reform การปรับระบบให้เข้ากับวิถีใหม่ เช่น การประชุมออนไลน์ ที่ทุกวันนี้เราใช้กันเป็นหลัก

“สถานการณ์ไทยขณะนี้เราให้ความสำคัญอยู่ใน 2 ขั้นแรกเยอะ แต่หัวใจสำคัญคือขั้นที่ 4-5 เพราะเมื่อโควิดได้ขยายภาพปัญหาในสังคมไทยหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจถดถอย ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง ผลกระทบภาคบริการและแรงงาน ระบบสาธารณสุขฐานราก เราจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว และมีการจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่” ศ.วุฒิสาร กล่าว

ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ข้อดีหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากโควิด-19 คือความสำเร็จส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการจัดการเชิงพื้นที่ ที่ให้อำนาจการตัดสินใจแก่พื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คิดหาทางออก เกิดการออกแบบการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมถึงความสามารถในการค้นหากลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาในพื้นที่ได้มากขึ้น ดังนั้นหัวใจสำคัญจึงเป็นการ Reimagine สร้างจินตภาพใหม่ ที่จะมีความสำคัญกับวิธีคิดของทุกเมือง โดยเฉพาะ กทม. อันนำไปสู่การ Reform หรือเปลี่ยนแปลงในที่สุด

ผศ.ดร.นิรมล
เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หาบเร่แผงลอยกับเมือง นับเป็นโจทย์สำคัญในเชิงวางผังและออกแบบเมือง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายเมืองพยายามหาคำตอบมาหลายทศวรรษ และหลายเมืองได้หาทางออก เช่น สิงคโปร์ ได้นำแผงลอยสตรีทฟู้ด รวมไว้ในศูนย์ที่มีการจัดการหรือฮอว์เกอร์เซนเตอร์ หรือไทเป ที่ย้ายแผงสตรีทฟู้ดเข้าไปอยู่ตามตรอกซอย โดยมีการนำเข้าระบบและจ่ายภาษี เพื่อกลับมาใช้ในการดูแลความสะอาด เป็นต้น

 

นิรมล เสรีสกุล


“สิ่งสำคัญคือการจัดการอย่างมืออาชีพ โดยหัวใจคือกระบวนการออกแบบร่วมหารือในระดับย่าน การบูรณาการแผนและนโยบาย เพื่อให้แรงงานที่อาจเคยอยู่นอกระบบเหล่านี้ สามารถกลับมาประสาน มีที่ทางอยู่ในเมืองได้ ซึ่งข้อเสนอสำหรับ กทม. คือการหาบาทวิถีที่มีความเหมาะสมเพื่อนำร่องในการบริหารจัดการใหม่ และในระยะยาวอาจมองพื้นที่ของภาครัฐอื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน มาเป็นโอกาสในการปรับปรุง” ผศ.ดร.นิรมล กล่าว

ขณะที่ นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ประธานคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับอนาคตของ กทม.นับจากนี้ จะอยู่ในมือของชาว กทม.ทุกคน ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่จะเข้าสู่วาระการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ และสมาชิกสภา กทม. ที่จะเข้ามาบริหารเมืองแห่งนี้ จึงอยากให้ทุกคนได้ติดตามในเรื่องนี้ ศึกษาถึงนโยบาย มุมมองต่างๆ ของผู้สมัครแล้วตัดสินใจ รวมถึงการติดตามต่อหลังจากนั้นว่านโยบายต่างๆ ที่เสนอมานั้นได้ทำหรือไม่
 

วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์


“หลังโควิด-19 ทุกคนจะต้องปรับตัวขนานใหญ่ ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน บนโลกนับจากนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีการแข่งขันสูง และทุกคนต้องพัฒนาปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด เช่นเดียวกับการจัดการปัญหาใน กทม.ที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วม และที่สำคัญคือการใช้ฐานข้อมูลที่ชัดเจนในการจัดการปัญหา” นพ.วงวัฒน์ กล่าว

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อคนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้คนที่อยู่ในระดับฐานราก ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายว่าเราจะใช้โอกาสและการฟื้นฟูหลังจากนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายทรัพยากรให้เข้าถึงทุกคนได้อย่างเป็นธรรมได้อย่างไร โดยสิ่งสำคัญคือความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะมองไปข้างหน้าและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน
 

ปรีดา แต้อารักษ์


“การจัดเวทีในวันนี้เป็นกิจกรรมคู่ขนานในช่วงของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้มีประเด็นสำคัญหนึ่งคือการคุ้มครองกลุ่มประชากรเฉพาะให้เข้าถึงบริการสุขภาพ เช่นเดียวกับสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ซึ่งปีนี้ได้มีการพูดถึงการใช้พื้นที่สาธารณะ รวมถึงการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิร่วมกัน เป็นกระบวนการที่ สช. และภาคีเครือข่าย จะมาร่วมกันมองอุปสรรคและหาทางออกร่วมกัน” นพ.ปรีดา กล่าว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
หาบเร่แผงลอย