สช. สานพลังภาคี 5 หน่วยงาน สร้างความเข้มแข็งระบบคุ้มครองผู้บริโภค สอดรับ ‘ธรรมนูญฯ ระบบสุขภาพ’ ฉบับ 3 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.ผนึกภาคีเครือข่ายอีก 5 องค์กร ลงนามความร่วมมือพัฒนาศักยภาพหนุน “องค์กรผู้บริโภค” มุ่งสร้างความเข้มแข็งระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย โดยเฉพาะ “การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ” หนึ่งในเป้าหมายตาม “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3”

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายอีก 5 องค์กร ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาองค์กรของผู้บริโภค และ มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการทำงานร่วมกันในการบูรณาการ เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค”

สำหรับข้อตกลงดังกล่าว หน่วยงานทั้ง 6 องค์กรได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทขององค์กรผู้บริโภค ต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย และมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะประสานความร่วมมือในการรับรองและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค พร้อมดำเนินงานพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภค และสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรผู้บริโภค ตามบทบาทของแต่ละองค์กร

ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นหนึ่งในสาระสำคัญที่ถูกกำหนดไว้ใน ‘ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565’ ซึ่งเป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนหรือผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายอย่างมีศักดิ์ศรี ได้บริโภคผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพที่มีมาตรฐาน โดยเสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และยึดหลักที่ว่าสุขภาพสำคัญกว่าการค้า
 

วีระศักดิ์ พุทธาศรี


ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคที่ผ่านมา คือการได้รับสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ฯลฯ ซึ่งมีการจำหน่ายทั้งในสถานที่ขายตามกฎหมาย รวมไปถึงร้านค้าออนไลน์ พร้อมกับมีการโฆษณาส่งเสริมการขายที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่หน่วยงานรัฐและองค์กรผู้บริโภคยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสมเท่าที่ควร จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญในปัจจุบัน ที่จะดูแลผู้บริโภคอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อดังกล่าว

ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า การคุ้มครองผู้บริโภคมีความสอดคล้องโดยตรงกับเรื่อง ความรอบรู้ด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy ที่หน่วยงานต่างๆ ล้วนมีการพูดถึง โดยในมุมหนึ่งคือประชาชน จะต้องมีข้อมูลความรู้ที่เท่าทัน ขณะเดียวกันในเชิงระบบ ก็จะต้องมีกลไก กฎหมาย ที่เอื้อให้ทุกคนได้รับการคุ้มครอง ซึ่งบทบาทของ สช. แม้ไม่ได้มีอำนาจดำเนินการโดยตรง แต่มีกลไกพื้นที่กลางที่จะชักชวนภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ เข้ามาพูดคุยกัน เช่น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
 

วีระศักดิ์ พุทธาศรี


“บนเวทีสมัชชาสุขภาพฯ เรามีบทเรียนที่หยิบยกเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาพูดคุยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องทันตกรรม ยา สื่อโฆษณา ฯลฯ คุยว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ความรู้คืออะไร ทางออกเป็นอย่างไร ใครจะทำอะไรได้บ้าง และนอกจากภาพใหญ่ในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ แล้ว รูปธรรมในระดับพื้นที่เรายังมี ธรรมนูญสุขภาพตำบล ซึ่งพบว่าประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค นับเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในเนื้อหาเกือบทุกแห่ง นั่นเพราะคนก็เชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่จะเกิดเรื่องของข้อมูล การเตือนภัย สร้างความตระหนัก ตลอดจนพฤติกรรมอันส่งผลกับสุขภาวะที่จะตามมา” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว

สำหรับ ‘ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3’ ได้กำหนดการวัดผลสำเร็จของ ‘การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ’ คือ จำนวนและการกระจายขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวนหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เกิดขึ้น การทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐ การมีและการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลแจ้งเตือนภัย การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการร้องเรียนของผู้บริโภค และข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การแก้ปัญหา

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในส่วนของ สสส. ภายใต้แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ได้มีความร่วมมือกับศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ในการขับเคลื่อนงานวิชาการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2548 โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับระบบและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ อันจะนำไปสู่การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงจากสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย
 

ชาติวุฒิ วังวล


“นับตั้งแต่ปี 2558 ทาง สสส. และภาคีเครือข่ายได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการ ในการพัฒนาและรับรองคุณภาพสำหรับองค์กรผู้บริโภค กระทั่งในช่วงปี 2560-2562 จึงได้เริ่มสนับสนุนให้มีการรับสมัครองค์กรผู้บริโภค และจัดให้มีกระบวนการรับรองคุณภาพตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยหลังจากนี้ สสส. จะยังคงเดินหน้าสนับสนุนและมีบทบาทร่วมในการพัฒนาศักยภาพขององค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ทั้งในด้านการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ” นายชาติวุฒิ กล่าว

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่สนับสนุนการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ และยอมรับสถานะขององค์กรผู้บริโภค แต่ยังไม่มีกระบวนการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพที่จะเข้าสู่กระบวนการรับรองทางกฎหมายอย่างเป็นระบบ
 

สารี อ๋องสมหวัง


“หน่วยงานทั้ง 6 เรามีความเห็นร่วมกันว่า กระบวนการพัฒนาและรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่ คคส. ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง ซึ่งการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค และการสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคจากความร่วมมือครั้งนี้ จะก่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” น.ส.สารี กล่าว
 

การพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค


 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
องค์กรผู้บริโภค