- 21 views
สช. จัดประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่สู่การพัฒนาสุขภาพช่องปาก” เมื่อวันที่ 24-26 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรมเจริญธานี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิระยะเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้อบจ. ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีสำนักการศึกษาแบบองค์รวม สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมเป็นทีมวิทยากร และมีภาคีเครือข่ายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, รพ.สต., ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทันตแพทย์และทันตาภิบาล จาก 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, สระบุรี เข้าร่วมทั้งหมดเกือบ 90 คน
ผลลัพธ์สำคัญที่ได้คือ แต่ละจังหวัดได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันคือ การลดปัญหาฟันผุและสุขภาพช่องปากให้กับเด็กปฐมวัย ผ่านการสังเคราะห์ และวิเคราะห์ต้นทุนของการดำเนินงานในหน่วยงานของตนเอง ต้นทุนการทำงานของทั้งทางศูนย์ฯ และรพ.สต.ที่เคยมี สู่การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งเน้นย้ำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเด็กปฐมวัย รวมถึงได้ออกแบบการเรียนรู้เชิงรุกสะท้อนผลผ่านกิจวัตรประจำวันของเด็กตลอด 24 ชั่วโมง ที่มีความสอดคล้อง ท้าท้าย ไม่เยอะเกินไป และสามารถทำได้ ทุกคนต้องปฏิบัติได้จริง และต้องตรวจเช็คประสิทธิภาพของ KR นั้นๆ ว่ายังตอบโจทย์หรือไม่
ด้านทีมวิทยากร นำโดย อ.วรนิษฐ์ สุทธิวิรัตน์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกรอบแนวคิดและหลักการออกแบบ “OKRs” เพื่อไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง “การที่ทุกคนเข้าใจเป้าหมายตรงกัน และรู้ภารกิจของตนเองอย่างชัดเจน (Direction) จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้” โดยให้ทีมจังหวัดออกแบบ OKRs ประกอบด้วย O = Objective (เป้าหมายร่วมกันว่าต้องการอะไร) บนหลักการมีส่วนร่วม เพื่อ Engage และ สร้าง Ownership และ KR = Key Result (ผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการ อยากได้ ที่จะนำไปสู่ O เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ)
นอกจากนี้ ทพญ.สุณี วงศ์คงคาเทพ ทพญ.วารี สุดกรยุทธ์ และ ทพ.นิติโชติ นิลกำแหง ยังได้ร่วมบรรยายเกี่ยวกับการจัดทำแบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์การเก็บข้อมูล และระบบการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของเด็กในศูนย์ฯ มุ่งสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการคือทั้ง 4 จังหวัด มีแผนพัฒนาบริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากในรูปแบบของตนเอง
สำหรับแนวทางการดำเนินงานระยะถัดไป แต่ละจังหวัดจะจัดทำรายงานแผนพัฒนาระบบบริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากเด็กในสถานพัฒนาเด็กเล็ก นำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักที่ตั้งไว้คือ การลดปัญหาฟันผุในเด็กปฐมวัยให้ได้มากที่สุด