สช. ปลุกพลังชุมชนหยุดปัจจัยเสี่ยง สกัดปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัว | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. จัดเวทีระดมความเห็นสร้างกลไกแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ หลังพบสารพัดปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทั้งสื่อออนไลน์ ค้ามนุษย์ การพนัน และท้องไม่พร้อม ฯลฯ ถอดบทเรียน ๒ จังหวัด พบชุมชนและท้องถิ่นเป็นหัวใจการแก้ปัญหา โดยภาครัฐและเอกชนต้องปรับบทบาทเป็นผู้หนุนเสริมการทำงาน มั่นใจจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ดีที่สุด
 
   เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ความเห็นต่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ เรื่อง “การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง” ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
 
   พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งระดับชาติ จังหวัด และท้องถิ่น เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รอบตัว ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้นทุกขณะ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมายังขาดการบูรณาการและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนร่วมกัน มติสมัชชาสุขภาพฯ จึงมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่นท้องที่ ชุมชน และครอบครัว เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานแก้ปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ตามยุทธศาสตร์เพื่อบูรณาการกลไกการคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง (พ.ศ.๒๕๕๘–๒๕๖๐) จำนวน ๔ ด้าน ได้แก่ ๑)ด้านการส่งเสริมและพัฒนาระบบสนับสนุนกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง ๒)ด้านการป้องกันและคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง ๓)ด้านการเฝ้าระวังภัยจากปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว และ ๔)ด้านการสงเคราะห์ช่วยเหลือเยียวยาแก่เด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง
 
   “ประเด็นสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้เกิดกลไกการแก้ปัญหาในระดับชุมชนหรือพื้นที่ ซึ่งเด็กและครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ ให้สามารถกุมสภาพการคุ้มครองและป้องกันปัจจัยเสี่ยงได้ โดยอาศัยฐานข้อมูลที่ชุมชนท้องถิ่นรับรู้จริงๆ มีการตั้งโจทย์ในพื้นที่ร่วมกัน และมีแนวทางการเฝ้าระวัง โดยหน่วยงานภาครัฐหรือนักวิชาการ เข้ามาช่วยสนับสนุนในการปฏิบัติ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น” พญ.พรรณพิมล กล่าว
 
   นางยุพาภรณ์ อภินันท์ดา นักสังคมสงเคราะห์ พมจ.พัทลุง กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัวในจังหวัดมี ๓ ประเด็นหลัก คือ ปัญหายาเสพติด การตั้งครรภ์ไม่พร้อม และการใช้สื่อออนไลน์ โดยเครื่องมือและกลไกการแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ต่างกันไป ส่วนใหญ่อาศัยกลไกศูนย์พัฒนาครอบครัวและชุมชน ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่แล้ว ร่วมด้วยเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดพัทลุง รวมถึงภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม กลไกเหล่านี้ในบางพื้นที่เข้มแข็ง แต่บางส่วนยังอ่อนแออยู่มาก
 
   ขณะที่ นายไพฑูรย์ ทองสม นักวิชาการสังเคราะห์ข้อมูล จ.พัทลุง กล่าวว่า การทำงานแก้ปัญหาเด็กเยาวชน ต้องมี ๓ เสาหลัก ทั้งท้องถิ่น ท้องที่ และท้องทุ่ง โดยคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ มอบให้มีการศึกษาพื้นที่ตัวอย่างจังหวัดพัทลุงใน ๕ ตำบล พบว่า กลไกแก้ปัญหาระดับชุมชนน่าสนใจมาก อาทิ ต.โคกม่วง มีโครงการ “ชวนพ่อกลับบ้าน” ให้ลูกเขียนโน้ตบนกระดาษแผ่นเล็กๆ ว่าวันนี้พ่อกลับบ้านหรือไม่ พบว่าพ่อจะค่อยๆ เลิกดื่มเหล้าและการพนัน เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ลูก ถือเป็นการป้องกันปัจจัยเสี่ยงในครอบครัวอย่างหนึ่ง หรือที่ ต.นาท่อม มีโครงการ “จักรยานสานฝัน” ทุกวันอาทิตย์ ให้ครอบครัวมาขี่จักรยานร่วมกันในชุมชน แล้วให้รายงานจุดอับ พื้นที่เสี่ยง หรือขยะที่เป็นพาหะโรค เป็นต้น
 
   ด้าน นางสาวพะยอม ดีน้อย จาก มูลนิธิแพทย์ธารา อ่อนชมจันทร์ นำเสนอรายงานการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ จ.เชียงราย ว่า เชียงรายเป็นพื้นที่ชายแดนและเปราะบาง มีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก จึงเผชิญปัญหาการค้ามนุษย์ ความยากจน ความรุนแรงในครอบครัว แรงงานเด็ก ค้าประเวณี ติดการพนัน ฯลฯ ซึ่งมีความซับซ้อนในการแก้ปัญหาและต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและความร่วมมือสูง โดยปัจจุบันมีกระบวน สมัชชาสุขภาพจังหวัด และมีหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ ดำเนินการอยู่หลายส่วน ซึ่งจากการถอดบทเรียนใน ๕ พื้นที่ ครอบคลุม อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน พบว่า แต่ละแห่งมีการรณรงค์เรื่องนี้แตกต่างกันไป ทั้งการแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม ยาเสพติด และสื่อสังคมออนไลน์ โดยหลังจากนี้ อยากเห็นการสร้างความเข้มแข็งไปสู่อำเภอรอบๆ และสร้างกลไกระดับจังหวัดต่อไป
 
   นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กทม. กล่าวว่า ต้องการเห็นทุกหน่วยงาน บูรณาการการทำงานร่วมกัน เหมือนเครื่องยนต์กลไก ซึ่งต้องมีอะไหล่ทุกตัวขับเคลื่อนจึงเดินหน้าได้ ทุกองค์กรก็ควรสำรวจตัวเองว่ามีหน่วยใดที่ทำงานแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนบ้าง แล้วมาผลักดันและขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน
 
   ขณะที่ นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หัวใจหลักของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็กเยาวชนและครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง” คือ กลไกระดับชุมชนที่ต้องทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์หรือปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาในพื้นที่ด้วยตนเอง พัฒนากลไกให้เกิดความเข้มแข็ง ไม่ใช่พึ่งพาหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง รวมถึงควรเพิ่มบทบาทเด็กและเยาวชน ไม่เพียงแต่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการเท่านั้น แต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในเรื่องการเข้าไปสำรวจปัญหาแบบลงลึกในบางเรื่องหรือบางจุดที่ผู้ใหญ่เข้าไม่ถึงด้วย
 
   ทั้งนี้ ความเห็นที่ได้รับจากเวทีฯ รวมถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ เรื่อง การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็กเยาวชนและครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง และบทเรียนประสบการณ์การกลไกคุ้มครองเด็กเยาวชนและครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยงในระดับพื้นที่ จะนำเข้ารายงานต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ