สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ชู ๔ ประเด็นกระทบคุณภาพชีวิต | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ ยก ๔ ประเด็นกระทบคุณภาพชีวิตและสุขภาวะสังคมโดยรวมของคนไทย ได้แก่ น้ำ ที่อยู่อาศัย ยุงลาย และเด็กปฐมวัย เป็นระเบียบวาระในการประชุมปลายปีนี้ เน้นบูรณาการทำงานข้ามหน่วยงานเพื่อการผลักดันนโยบายสาธารณะ เชื่อมโยงธรรมนูญระบบสุขภาพ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
 
   วันนี้ (๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙) ณ โถงหน้าห้องประชุมสานใจ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี ได้มีการแถลงข่าว การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๕๙ : ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ มีประเด็นที่ได้รับการเสนอเข้าพิจารณาทั้งสิ้น ๔ ระเบียบวาระ ได้แก่ ๑.การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ ๒.น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ๓.การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และ ๔.สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมแห่งสุขภาวะโดยรวมของคนไทย จำเป็นจะต้องมีกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะอย่างเร่งด่วน เน้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันอย่างแท้จริง
 
   นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า แนวทางหลักในการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ ได้แก่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน เนื่องจาก “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการวางแผนและการพัฒนาประเทศภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานด้านระบบสุขภาพของประเทศใน ๕-๑๐ ปีข้างหน้า ก็ได้กล่าวถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของระบบสุขภาพไทยไว้ว่าให้นำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อ “สุขภาวะที่ยั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในมิติต่างๆ ตามที่สหประชาชาติกำหนดไว้
 
   โดย ๑ ใน ๔ ระเบียบวาระที่เข้าสู่การประชุมในปีนี้ เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงโดยตรงกับอนาคตของชาติหรือเด็กที่กำลังจะเติบโตมาเพื่อสร้างสรรค์สังคม ซึ่ง คุณตุ๊ก ชนกวนันท์ รักชีพ นักแสดงชื่อดังและคุณแม่ลูกสอง กล่าวถึงหลักคิดของการเลี้ยงลูก คือ การมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายและเชื่อมโยงกับสังคมรอบตัว การส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เช่น เรื่องเกษตรกรรม ฯลฯ เพื่อให้ลูกรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงความสำคัญของบริบทต่างๆ ในชีวิตนั้น เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการเลี้ยงบุตรที่ดีจะต้องใส่ใจในองค์รวม และเน้นสร้างสมดุลระหว่างพัฒนาการทางร่างกายและทางสมองได้ลงตัว
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ เลขานุการคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อธิบายว่า ตลอดระยะเวลา ๙ ปีที่ผ่านมา สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทำหน้าที่เป็นกลไกการสร้างและผลักดันนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม กล่าวคือ เป็นพื้นที่สาธารณะและกระบวนการที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เพื่อการค้นหาทางออกร่วมกันบนฐานของข้อมูล ความรู้ และปัญญา นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายและข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกลไกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบของกระทรวงหลัก ๖ กระทรวง สภาวิชาชีพและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสุขภาพ เป็นเสมือนพื้นที่ของการประสานความร่วมมือ ประสานข้อมูล ระหว่างกระทรวง หน่วยงาน องค์กรที่เป็นกรรมการฯ ซึ่งที่ผ่านมาตลอดการทำงานได้มีการสอดแทรก ผลักดันแนวคิด “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” (Health in All Policies) เพื่อให้กระทรวงต่างๆ สร้างนโยบายโดยคำนึงถึงมิติด้านสุขภาพควบคู่ไปด้วยเสมอ
 
   นพ.พลเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตได้มีการวางแผนการสร้างความร่วมมือกับ ๖ กระทรวงในคณะกรรมการอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาประเด็นนโยบายร่วมกัน การร่วมขับเคลื่อนนโยบายฯ การจัด Forum เพื่อหารือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายทั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ หรือมติสมัชชาสุขภาพฯ ที่มีอยู่แล้ว สอดรับกับแนวคิดด้านสุขภาพ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และแนวทางประชารัฐ และถูกนำไปปฏิบัติจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายการทำงานที่สำคัญในอนาคต คือ การทำให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้เข้าร่วมสมัชชาสุขภาพได้เรียนรู้ ซึมซับแนวคิดการทำงานแบบ “สานพลัง” (synergy) คือการทำงานแบบข้ามภาคส่วน หรือที่เรามักเรียกกันว่า แบบ “บูรณาการ” ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการทำเรื่องที่ยากหรือซับซ้อน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้ ดังที่เราเห็น ได้จากตัวอย่างความร่วมมือในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหลายๆ มติ ที่จะมีการนำเสนอในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้
 
   การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๕๙ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นั้น ๔ ระเบียบวาระที่เข้าสู่พิจารณาในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในครั้งนี้ ประกอบด้วย
 
   ๑. การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ เนื่องจากเรื่องที่อยู่อาศัยนั้นส่งผลกระทบต่อแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาจราจร ปัญหาชุมชนแออัด การบุกรุก การสร้างบ้านที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องสร้างกติกาที่เหมาะสม และเน้นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยต่างๆ เพื่อหามาตรการจัดระเบียบที่สอดคล้องการพัฒนาประเทศยุคปัจจุบัน
 
   ๒. น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานของน้ำดื่มที่ชัดเจน และจากการสำรวจพบว่าน้ำดื่มที่จำหน่าย โดยเฉพาะตู้กดน้ำอัตโนมัติยังไม่ได้รับการควบคุมดูแลให้ดีกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคมากมาย จึงต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะสร้างกติกาที่ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ได้น้ำดื่มที่มีคุณภาพและปลอดภัย ในราคาที่ยุติธรรม
 
   ๓. การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม เนื่องจากเด็กไทยมากกว่าครึ่งอยู่ในภาวะเสี่ยงมากมาย อาทิ ด้านโภชนาการที่ยังพบปัญหาการขาดสารอาหารและโรคอ้วน ปัญหาพัฒนาการไม่สมวัย ปัญหาการมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม จึงต้องอาศัยการขับเคลื่อนทั้งระบบ ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน และสังคม ผ่านการประสานความร่วมมือของหน่วยงานและเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้การส่งเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยเป็นนโยบายสาธารณะมีแนวปฏิบัติและเป้าหมายจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
 
   ๔. สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับทราบว่าโรคที่นำโดยยุงลาย สามารถป้องกันและควบคุมได้ด้วยการป้องกันตนเอง เนื่องจากเวลานี้การระบาดของโรคที่นำโดยยุงลายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น และยังมีโรคเกิดขึ้นใหม่ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกและเริ่มเป็นปัญหาในประเทศไทย เช่น ไข้ซิกา ที่ทำให้ทารกในครรภ์เกิดมามีศีรษะเล็กผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งหากไม่มีมาตรการดำเนินการปราบยุงลายอย่างจริงจังและทันกาล จะทำให้เพิ่มอันตรายต่อสุขภาพและเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยได้
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ