สมัชชาสุขภาพแห่งชาติยก 5 วาระเพื่อสุขภาพคนไทย ลดพฤติกรรมคนไทยชอบกินเค็ม เสี่ยง ความดัน หัวใจ ไตพัง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชูแนวคิด “สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาพไทย” ชี้ปัญหาสุขภาพคนไทยหลายเรื่องเกิดเพราะพฤติกรรมสุขภาพ กินเค็มจัด ใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเกินจำเป็น คนเมืองมีปัญหาสุขภาพ ขณะที่สุขภาวะชาวนาก็ย่ำแย่ ต้องร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อแก้ไข
 
   นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2558 ระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคมนี้ ที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี นนทบุรี มีระเบียบวาระที่เข้าสู่การพิจารณาหาฉันทมติ 5 เรื่อง ทั้งหมดเป็นประเด็นที่กำลังคุกคามสุขภาพคนไทย จำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะที่ทุกฝ่ายร่วมกันจัดทำ โดยใช้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่สำคัญ ในปีนี้ คจ.สช. ได้ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการขาเคลื่อน” หรือ การนำนโยบายไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติจริง เน้นการบูรณาการระหว่างองค์กรและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ข้อเสนอแนะเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา จำนวน 18 มติ และเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมครั้งนี้แล้ว ระเบียบวาระที่ได้รับฉันทมติจะถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พล ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย) เป็นประธาน เพื่อส่งต่อให้กับคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร) เป็นประธาน ในการผลักดันให้เกิดการทำงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป
 
   “นโยบายสาธารณะทางด้านสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไทย หากคนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดีจะกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ดังนั้น สุขภาพจึงเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของการพัฒนาประเทศไทยต่อไปในอนาคต” นายเจษฎา กล่าว
 
   สำหรับระเบียบวาระการประชุมที่จะมีการพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้ ได้แก่
 
   1. “วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา และการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์แบคทีเรียดื้อยาในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียทำได้ยากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การจัดการเชื้อแบคทีเรียดื้อยาระดับชาติอย่างเร่งด่วน
 
   2. “สุขภาวะชาวนา: การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา” จากปัญหาสุขภาวะชาวนา ทั้งทางกาย จากพิษสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ราคาผลผลิตข้าวตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตชาวนา รวมถึงสุขภาพปัญญาที่คนรุ่นใหม่ละทิ้งภูมิปัญญาเดิม หาชาวนารุ่นใหม่ไม่ได้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงเสนอให้องค์กรชาวนาได้เข้าไปมีส่วนร่วมทำงานพัฒนาสุขภาวะชาวนา ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายระดับชาติและหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิด
 
   3. “ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” เป็นผลจากแนวโน้มที่ผู้คนจะเข้ามาอาศัยในเขตเมืองมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความแออัด เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข ดังนั้น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงผลักดันให้พัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเขตเมือง ที่ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยระดมความร่วมมือจากสถานบริการทั้งของรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 
   4. “นโยบายการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อ” เนื่องจากคนไทยนิยมอาหารรสเค็ม ส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังที่สร้างผลเสียต่อสุขภาพคนไทยเรื้อรังในระยะยาว สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงเสนอให้มีนโยบายสาธารณะเพื่อจัดการปัญหาสุขภาพนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจับมือทำงานกับธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและองค์กรผู้บริโภค
 
   5. “การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” เป็นเรื่องที่คณะกรรมการติดตามขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเสนอให้ทบทวนมติเดิมที่ผ่านการประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 เพื่อปรับปรุงให้การขับเคลื่อนมติเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
   ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็น ว่าด้วย “นโยบายการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อ” กล่าวถึงภัยร้ายของการรับประทานอาหารเค็มว่า เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพใกล้ตัวคนไทยมากที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะนี้คนไทยยังไม่มีความตื่นตัวจากภัยดังกล่าว การบริโภคเกลือและโซเดียม หากอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะเกลือมีส่วนประกอบที่เป็นโซเดียมอยู่ร้อยละ 40 ที่จะช่วยรักษาสมดุลของเหลวและเกลือแร่ในร่างกาย ช่วยปรับความดันเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ตลอดจนมีส่วนช่วยในการดูดซึมสารอาหารบางอย่างที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่การได้รับโซเดียมมากเกินไปจะกลับกลายเป็นโทษร้ายแรง โดยเฉพาะการรับปริมาณโซเดียมที่มากกว่า 2 กรัมต่อวัน จะเป็นตัวการที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไต ฯลฯ โดยทางการแพทย์จะเรียกโรคเหล่านี้ว่า โรคไม่ติดต่อ (Non-Communicated Diseases) หรือ NCDs
 
   ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประชากรโลกก็มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้มากเป็นอันดับหนึ่ง จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้าหมายในการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมให้ได้ร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2568 ขณะที่ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นปัญหาดังกล่าวเช่นกัน จากผลสำรวจการบริโภคเกลือและโซเดียมในคนไทยมีแนวโน้มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2550 พบว่าคนไทยรับโซเดียมมากกว่าความต้องการของร่างกาย คือ ร้อยละ 4.35 กรัมต่อคนต่อวัน ยังไม่รวมโซเดียมในรูปแบบอื่นๆ ที่แฝงมากับผงชูรส น้ำจิ้ม อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป หรือแม้แต่ผงฟูในขนมก็ตาม ดังนั้น คนไทยส่วนใหญ่จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อ หากดูตัวเลขผู้ป่วย อาทิ โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี
 
   ขณะที่ นายยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร กล่าวเสริมพร้อมสาธิตการปรุงอาหารรสอร่อยแบบไม่เค็ม ว่า “คนไทยต้องปรับปรุงพฤติกรรมการบริโภคให้ปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น การลดการบริโภคเค็มไม่ใช่เรื่องยาก การปรุงอาหารด้วยตนเองจะเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุด พร้อมปิดท้ายว่า ปรุงอาหารอร่อย ต้องอร่อยจากรสชาติส่วนประกอบของอาหาร ไม่ใช่อร่อยเพราะเครื่องปรุงรส”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ