- 248 views
หนึ่งในปัญหาการบริโภค ที่ส่งผลต่อ “สุขภาวะ” คนไทย และกำลังถูกการยกระดับ ขึ้นเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเสนอต่อ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ นั่นคือ “นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” โดย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนในสังคม
เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีเวที การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ทั้งในเรื่องของข้อมูลการศึกษา สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผลดำเนินงานที่ผ่านมา และข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้ภาครัฐ เอกชน และอุตสาหกรรมอาหาร ช่วยรณรงค์ ส่งเสริมการปรุงอาหาร และขายผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือและโซเดียมให้ต่ำลงอย่างเป็นรูปธรรม
ในที่ประชุม ได้รับทราบถึงผลกระทบที่รุนแรง ของการบริโภคเกลือและโซเดียมเกินความจำเป็น ซึ่งขณะนี้นานาชาติ ได้ส่งสัญญาณเตือนในเรื่องนี้แล้ว ต่างเร่งผลักดันให้ประชาชนตื่นตัว โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้การลดเกลือเป็น ๑ ใน ๙ เป้าหมายระดับโลกในการควบคุมโรค NCDs ภายในพ.ศ.๒๕๖๘ และกำหนดให้ลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ๓๐% ภายในพ.ศ.๒๕๖๘
สำหรับประเทศไทย ได้รับรองทั้ง ๙ เป้าหมายในที่ประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ เมื่อพ.ศ.๒๕๕๗ เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งการลดบริโภคเค็มเป็น ๑ ในเรื่องสำคัญ เพราะวันนี้ ตัวเลขของคนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงถึง ๔,๐๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุว่า ไม่ควรบริโภคเกิน ๒,๐๐๐ มิลลิกรัม หรือ ๑ ช้อนชาต่อวันเท่านั้น
นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การรณรงค์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลต้องมาคู่กับการผลักดันไปยังร้านอาหาร ภัตตาคารต่างๆ รวมถึงผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปด้วย ให้ปรุงหรือจัดเครื่องปรุงในหีบห่อให้มีปริมาณเกลือและโซเดียมลดลง
“ที่เราเป็นห่วงมาก คือกรณี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่คนไทยนิยมรับประทานกันมาก เพราะมีหลายรสชาติให้เลือก อาทิ รสต้มยำกุ้ง เพียง ๑ ซอง มีเกลือและโซเดียมรวมถึง ๒,๔๐๐ มิลลิกรัม สูงกว่าที่ร่างกายควรได้รับทั้งวัน ขอความร่วมมือมานาน ให้ลดเกลือและโซเดียมลง แต่ไม่เห็นผล ดังนั้น การออกเป็นข้อบังคับไปยังอุตสาหกรรมอาหาร น่าจะเป็นมาตรการที่ดีกว่า พร้อมไปกับการรณรงค์แบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น ซึ่งล่าสุดเราได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว”
ทั้งนี้ การบริโภคเกลือและโซเดียมที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นถึง ๒ เท่านำมาสู่ความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรัง และโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน
โดยเฉพาะไตเรื้อรัง ที่พบว่าคนไทยเป็นมากขึ้น จากข้อมูลของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สุ่มตัวอย่างประชากรใน ๑๐ จังหวัดเมื่อพ.ศ.๒๕๕๑ พบว่า มีคนไทยป่วยด้วยโรคดังกล่าว ๗ ล้านคน และข้อมูลจากการรักษาผู้ป่วยไตเรื้อรังในปี ๒๕๕๕ พบว่า มีคนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ๙๐๕.๙ ต่อประชากร ๑ ล้านคน เพิ่มจากเมื่อปี ๒๕๕๐ ที่มีอัตรา ๔๑๙.๙ คน
นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพคนไทยจำนวนมากแล้ว ยังตามมาด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ยปีละ ๒๔๐,๐๐๐ บาทต่อคน สำหรับประมาณการณ์ในปี ๒๕๕๙ คาดว่ารัฐจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยไตเรื้อรังผ่านระบบสิทธิต่างๆราว ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี
คณะทำงานด้านวิชาการฯ ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน และมองว่าการขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ จะต้องรณรงค์ลดการบริโภคเค็ม ผ่านสื่อทุกช่องทาง และอาศัยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด สื่อสารไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง ให้ตะหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
หลังจากนี้ จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อให้ได้ข้อเสนอและแนวทางที่ดีที่สุด ก่อนนำเข้าเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ ปลายปีนี้
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143