สมัชชาสุขภาพ กับ การปฏิรูปประเทศ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   หลังจากที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ได้เชิญเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและเลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปหารือพร้อมกัน ถึงปัญหาสถานการณ์กระแสสังคมที่อ่อนล้าต่อขั้นตอน-กระบวนการปฏิรูปประเทศอันยืดเยื้อ (Reform Fatigue)
 
   ในที่สุด การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุมภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนงานขับเคลื่อนการปฏิรูปที่ฝ่ายเลขานุการนำเสนอรายงาน ที่ว่า
 
   “ได้ขอความอนุเคราะห์สมัชชาสุขภาพในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างความรับรู้ของประชาชนในเชิงพื้นที่และสร้างการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของการปฏิรูปประเทศ” โดยครอบคลุมทั้งปฏิรูป 11 ด้านและยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน
 
   เป็นอันว่า จากผลงานที่มีคุณค่า ฐานทุนทางปัญญาและพัฒนาการในระยะ 10 ปีของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ บัดนี้ได้รับการยอมรับในสถานะของการเป็น “เครื่องมือของชาติ”ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ ในระดับหนึ่งแล้ว
 
   ภารกิจที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายกำลังจะได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศในคราวนี้ จึงเป็นโอกาสและความท้าทาย ที่เราจะต้องแสดงบทบาทอย่างเต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือความยากลำบากใดๆ มาขวางกั้น
 
   ในภาพรวมของแผนปฏิรูปจากคณะกรรมการปฏิรูป 11 คณะ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการ จากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไปแล้วนั้น ประกอบไปด้วยประเด็นปฏิรูปที่มีจำนวนมากถึง 109 ประเด็น โดยมีพันธกิจย่อยอีก 128 อย่าง
 
   ในจำนวนทั้งหมดนี้ จะต้องปรับปรุงกฎหมาย 119 ฉบับและจัดทำกฎหมายใหม่อีก 77 ฉบับ มีข้อเสนอการจัดตั้งองค์กรเพิ่ม 56 องค์กร และปรับปรุงองค์กรเดิม อีก 42 องค์กร
 
   มองในด้านหนึ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต่างเห็นว่า “ไม่มีโฟกัส” และ “ทำสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้ยาก”
 
   อีกด้านหนึ่ง แต่ละคณะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำแผนเพื่อส่งการบ้านให้ทัน จึงไม่มีเวลาได้ประสาน ตรวจเช็คระหว่างกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ เช่น การเสนอตั้งหน่วยงานใหม่โดยไม่ยุบเลิกหน่วยเก่าเลยนั้น จะไปขัดแย้งกับแผนปฏิรูประบบราชการหรือไม่ และจะมีทางออกอย่างไร
 
   และอีกด้านหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นแผนปฏิรูปที่คิดโดยข้าราชการและชนชั้นนำ มุ่งแก้ไขปรับปรุงที่โครงสร้างส่วนบน ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางของสังคมและภาคีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง แรงต้านและความหนืดน่าจะเกิดขึ้นทั้งระบบ ตลอดเส้นทางในการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่แรงหนุนจากสังคมจะเฉื่อยเนือย
 
   สำหรับภารกิจของ สช. และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เท่าที่เราน่าพอจะช่วยได้บ้าง ก็คือการสร้างความเข้าใจและการใช้วิจารณญาณของชุมชนและประชาคมท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ และในเครือข่ายทางสังคมในเชิงประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พวกเขาได้เลือกหยิบเรื่องที่สนใจและคิดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาคมของตนและนำไปปฏิบัติการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงจากฐานล่างในขอบเขตที่เล็กแล้วไล่ขึ้นมา ด้วยวิธีการและวิถีทางของแต่ละคนแต่ละพื้นที่
 
   นี่เป็น Local Reform Agenda ของขบวนประชาชน ประชาสังคม และพหุภาคีที่เป็นอิสระ มิได้ขึ้นต่อหรือรอคอยการเปลี่ยนแปลงที่มาจากข้างบน แต่เป็นการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของคนเล็กคนน้อย เป็นการปฏิรูปโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Reform in action)
 

รูปภาพ