สมัชชาสุขภาพ ตัวอย่างหนึ่งของ ‘พื้นที่ประชาธิปไตยใหม่’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content
Audio file

ท่ามกลางความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน แต่แสงสว่างก็มีมากขึ้นตามลำดับ ถ้ามองสังคมอย่างมีความหวัง (Hope) 

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้มีเวทีเสวนา เรื่อง “ประชาธิปไตยแบบ เครือข่าย: Democracy by Networking” โดย มี ศ.สุริชัย หวันแก้ว กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็น ผู้ถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ของระบบการอภิบาลสุขภาพของ ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล และ ดร.นิธิ เนื่องจำนงค์ 

คสช. เป็นกลไกภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการทำงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เป็น “การอภิบาลแบบ เครือข่ายประชาธิปไตย” (Democratic Network Governance) จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ เรื่องเหล่านี้ให้ลึกซึ้ง 

ศ.สุริชัย มองว่า การอภิบาลแบบเครือข่าย ประชาธิปไตย จำเป็นต้องส่งเสริม 5 เรื่องไปพร้อมๆ กัน คือ (1) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ ที่ถูกต้องตรงกันมากขึ้นเรื่อยๆ (2) การใช้ยุทธศาสตร์ ทำงานและการพัฒนาวิชาการเชิงรุก (3) ให้ความ สำคัญกับการทำงานและการพัฒนากลไกทำงานข้าม ภาคส่วน (4) การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาการทำงานและการเรียนรู้ ร่วมกัน และ (5) สนับสนุนการตื่นตัวของ “สำนึก พลเมือง” และ การตื่นตัวของ “ขบวนการผู้บริโภค” ซึ่งเป็นนัยยะสำคัญของการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง ทางสังคม ตามแนวทางประชาธิปไตยแนวใหม่นี้ 

ดังนั้น การทำงานสนับสนุนการพัฒนา นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าด้วยการใช้เครื่องมือ อันได้แก่ สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือเครื่องมืออื่นๆ ควรคำนึงถึงการส่งเสริม 5 เรื่องข้างต้นนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย การประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6” ว่าด้วยการ “สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน” ที่เลื่อน มา 2 ครั้ง เนื่องจากปัญหาความไม่เป็นปกติของบ้านเมือง ซึ่งมีกำหนดการจัดใหม่ในระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน 2557 ที่ศูนย์ประชุมและนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี นั้น นับเป็นพื้นที่ประชาธิปไตยใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตยแบบเครือข่ายเปิดให้ทุกภาคส่วน ที่สนใจสามารถเป็นผู้เสนอประเด็นนโยบาย มีการทำงานวิชาการและการรับฟังความคิดเห็นข้ามกลุ่มข้าม ภาคส่วนและข้ามพื้นที่ จนกระทั่งสู่โค้งสุดท้ายของ การพัฒนานโยบายสาธารณะขาขึ้นคือ การประชุมหาฉันทมติ ที่มีตัวแทนองค์กรภาคเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้าร่วม โดยกระบวนการทำงานทั้งหมดมีการบริหาร จัดการอย่างเป็นระบบ หลังจากนั้นก็จะมีการผลักดันการขับเคลื่อนมติต่างๆ ให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องไม่รู้จบ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมทำงาน เข้าร่วมเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ 

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงถือได้ว่าเป็น พื้นที่ประชาธิปไตยใหม่ของสังคม โดยสังคม และ เพื่อสังคม นั่นเอง

หมวดหมู่เนื้อหา