- 127 views
รวมพลังภาคี สช. สสส. พอช. สปสช. ไทยพีบีเอส ชวนตั้งวงถอดบทเรียนครั้งใหญ่กว่า 600 ชีวิตจัด 4 เวทีย่อย นำเสนอในเวทีใหญ่ “ดอก-ผล พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19” พบประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตใหญ่มาได้คือ “พลเมืองอาสา” ด้าน นพ.ประทีป ระบุ เร่ง!!! ยกระดับการทำงานสร้างเครือข่ายพลเมืองอาสาที่เป็นระบบและยั่งยืนรองรับภัยพิบัติ
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชวนภาคียุทธศาสตร์ ไทยพีบีเอส สสส. สปสช. พอช. จัดกิจกรรม Side event ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่” และเป็นส่วนหนึ่งของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค. 2564 โดยมีหัวข้อการเสวนาเรื่อง “ดอก ผล พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19” เพื่อเปิดพื้นที่กลางให้ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันถอดบทเรียนการรับมือวิกฤตสุขภาพครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์ อย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืน
นายสยาม นนท์คำจันทร์ โฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เปิดเผยว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงที่สุดคือชุมชนเมือง โดยเฉพาะคนจนเมืองที่อาศัยในชุมชนแออัด เนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคส่วนบริการ เมื่อมีมาตรการควบคุมโรคและปิดสถานบริการ ร้านค้า โรงแรม คนกลุ่มนี้จึงได้รับผลกระทบ
นายสยาม กล่าวว่า ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีชุมชนอยู่ประมาณ 2,600 แห่ง ในจำนวนนี้ได้รับการขึ้นทะเบียน ประมาณ 2,016 ชุมชน ส่วนที่เหลือไม่มีการจดทะเบียน โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐในลักษณะบุกรุก และเกินกว่า 60-70% เป็นผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในต่างจังหวัด แต่เดินทางเข้ามาทำงานใน กทม. ฉะนั้นเมื่อเกิดโควิด-19 คนกลุ่มนี้จึงเข้าไม่ถึงบริการ
“จากบทเรียนที่ผ่านมา พบว่ามีการเปลี่ยนผู้ที่จิตตกเป็นจิตอาสาโดยชุมชน เกิดภาคชาวบ้านเข้ามาร่วมทีมดูแลโควิด-19 ใน กทม. มากกว่า 600-700 ราย มีงบส่งตรงไปชุมชน เหล่านี้ช่วยทำให้ชุมชนสามารถจัดการตัวเอง และวางแผนรับมือเฉพาะหน้าได้ มีการจัดตั้งครัวกลาง มีการจัดทำข้อมูลเป็นระบบที่ช่วยให้สามารถรับการสนับสนุนจากภายนอกได้ตรงจุด” นายสยาม กล่าว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดไประยะเวลาหนึ่ง พบว่าหน่วยบริการให้บริการเต็มศักยภาพ จึงเกิดนวัตกรรมใหม่ทางสาธารณสุขที่เข้ามาช่วยรองรับสถานการณ์ อาทิ ระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือระบบการดูแลโดยชุมชน (Community Isolation : CI) ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น สปสช.เป็นเพียงกลไกการสนับสนุนงบประมาณ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงนั้นอยู่ในพื้นที่
“ขณะที่วิกฤติโควิด-19 รุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระบบบริการสาธารณสุขต้องรับภาระหนัก มีประชาชนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เข้าถึงระบบสุขภาพไม่ได้ เราพบว่ามีกลุ่มจิตอาสา อาสาสมัคร หลากหลายกลุ่มได้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือ ตรงนี้ถือเป็นกำลังที่เข้มแข็งที่ช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดมาได้” ทพ.อรรถพร กล่าว
ดร.อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี นักบริหารแผนงานชำนาญการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า นอกเหนือจากผลกระทบและมุมลบจากสถานการณ์โควิด-19 เรายังเห็นโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้ โดยพบว่ามีหลายคน หลายชุมชน หลายองค์กร ที่มีศักยภาพ ได้ลุกขึ้นมาทำงานจิตอาสาในหลายระดับ ทั้งระดับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และภาคประชาสังคม โดยมีหลายภาคส่วนได้ลงพื้นที่ในลักษณะพี่เลี้ยง บูรณาการทรัพยากร องค์ความรู้ และเครือข่ายที่มีอยู่ หนุนเสริมการทำงานของชุมชน เพื่อให้แกนนำหรือผู้นำชุมชนสามารถให้ความช่วยเหลือคนในชุมชนได้
“ความเข้มแข็งของประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการพลิกวิกฤติในครั้งนี้ ชุมชนและแกนนำชุมชนต้องมีศักยภาพเพียงพอในการจะลุกขึ้นมาจัดการตัวเองให้ได้ ซึ่งการที่ชุมชนจะมีศักยภาพนั้น จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง ซึ่งก็คือหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานประชาสังคมต่างๆ จากนี้จึงจำเป็นต้องหากลไกเชื่อมระหว่างประชาชน ผู้ป่วย หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะระบบบริการ” ดร.อนุสรณ์ กล่าว
น.ส.วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายอาวุโส ThaiPBS กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 สังคมไทยได้เปิดโอกาสให้นักสื่อสารพลเมืองร่วมสื่อสารภายใต้วิกฤตินี้อย่างแท้จริง โดยช่วงเดือน เม.ย. 2563 เป็นช่วงที่ประเทศไทยล็อคดาวน์ เราไม่รู้ว่าต่างจังหวัดเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขณะที่ กทม. เป็นศูนย์กลางแต่เราไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ทันที เพราะมีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง การเดินทาง ความกังวล และความไม่เข้าใจ นักสื่อสารพลเมืองจึงทำหน้าที่เป็นข้อต่อ เชื่อมต่อข้อจำกัดของการเดินทาง อยู่ตรงไหนก็สื่อสารกันเข้ามา ทำให้รู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
“การสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ทำให้เห็นประเด็นวาระที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวพลเมือง นักสื่อสารสาธารณะ แพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน Facebook LINE ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นจากพลังสื่อโดยสมัครใจ” น.ส.วลัยลักษณ์ กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ในช่วงโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สช. มีต้นทุนการทำงานกับภาคีเครือข่ายมากมาย จึงได้สานพลังการทำงานภายใต้ “แผนรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” โดยการใช้มาตรการของภาคประชาชน ด้วยข้อตกลงหรือธรรมนูญที่จะมาช่วยหนุนเสริมมาตรการหลักของรัฐในการรับมือกับวิกฤต
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า แม้ระบบสุขภาพของไทยจะค่อนข้างมีความเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับ แต่เมื่อเกิดวิกฤตที่ซับซ้อนก็ทำให้เราได้เห็นจุดอ่อน โดยเฉพาะปัญหาในเขตเมือง รวมถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่การจัดการจะต้องบูรณาการกันมากขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือการใช้ต้นทุนทางทรัพยากรที่เรามี ทั้งพลังของเครือข่ายพลเมืองอาสา หรือกองทุนย่อยต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งสิ่งสำคัญหลังจากนี้คือเราจะใช้ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการรับมือปัญหาเฉพาะกิจในครั้งนี้ แปลงไปสู่การทำงานในภาวะปกติอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
“ไม่ว่าประเทศเราจะเผชิญวิกฤตอะไร ควรจะต้องมองปัญหาด้วยความหวังและอดทนที่จะเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเดินไปข้างหน้า และสิ่งสำคัญคือทุกคนต้องใจเย็น ปล่อยให้ระบบเดินไป ผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ที่มีบทบาทในการตัดสินใจจะต้องไม่รีบร้อน หรือล้มกระดานกลางคัน แต่ต้องปล่อยกลไกความร่วมมือต่างๆ เดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง และ เร่ง!!! ยกระดับการทำงานสร้างเครือข่ายพลเมืองอาสาที่เป็นระบบและยั่งยืนรองรับภัยพิบัติ” นพ.ประทีป กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141