เสนอ ครม. วางยุทธศาสตร์ระดับชาติ ขับเคลื่อนทุกภาคส่วน สกัดปัญหาเชื้อดื้อยา | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. ผนึกกำลัง สธ. และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เปิดเวทีรับฟังความเห็นร่าง “แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๑” สอดคล้องมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ ก่อนนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมนี้ ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ รวมพลังหยุดปัญหาเชื้อดื้อยาที่ลุกลามรุนแรงมากขึ้น
 
   เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๙ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่าง “แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๑” โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สช. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
 
   นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ในฐานะผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance) ของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากสถิติผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดในแต่ละปีที่มีจำนวนหลายหมื่นคน อันมีสาเหตุสำคัญจากการใช้ยาเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดเชื้อแบคทีเรียมีพัฒนาการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยภาวะเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะใช้ป้องกันและรักษาการติดเชื้อกลับลดลง ซึ่งในปัจจุบัน วงการแพทย์ทั่วโลกยังไม่สามารถผลิตยารักษาโรคได้ทันกับภาวะเชื้อที่ดื้อยาเหล่านี้
 
   นพ.บุญชัย กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ เรื่อง “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” ถือเป็นการสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วมกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาควิชาการ สมาคมวิชาชีพ และภาคประชาสังคม ร่วมกันตั้ง “คณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ” เพื่อทำงานและจัดทำร่าง “แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๑” นำมาสู่การรับฟังความเห็นในครั้งนี้
 
   “การแก้ปัญหานี้จะสำเร็จได้จะต้องอาศัย ๓ องค์ประกอบ คือ หนึ่ง-การนำความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหา สอง-การเคลื่อนไหวทางสังคม (social mobilization) ผ่านกระบวนการ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และ สุดท้าย-การเมืองหรืออำนาจรัฐ เพื่อสนับสนุนด้านนโยบายและทรัพยากรไปสู่การดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ”
 
   นอกจากนั้น การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ยังต้องอาศัยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เพราะถือเป็นภัยคุกคามของทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่ง ศ.คลินิคเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพในเอเชีย (Tokyo Meeting of Health Ministers on Antimicrobial Resistance in Asia) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ๑๒ ประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วม เพื่อกระตุ้นเจตจำนงและความมุ่งมั่นทางการเมือง (political commitment) ในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งคาดว่าหากไม่รีบแก้ไขปัญหานี้ ในอีก ๓๔ ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาเชื้อดื้อยากว่า ๑๐ ล้านคน โดยประเทศในทวีปเอเซียจะได้รับผลกระทบมากที่สุดและเสียชีวิตสูงถึง ๔.๗ ล้านคน
 
   ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. ในฐานะรองประธานคณะกรรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ กล่าวว่า ประเทศไทยมีต้นทุนของระบบจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาที่ดี แต่สถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การคมนาคมระหว่างประเทศที่รวดเร็วขึ้น การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ได้รับความนิยมมากขึ้น การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ง่าย รวมถึงรูปแบบการทำการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สถานการณ์เชื้อดื้อยามีความซับซ้อน และยังเกี่ยวข้องกับสุขภาพคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ระบบการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศไทย จึงต้องปรับตัวในเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานมากขึ้นด้วย
 
   ร่าง “แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๑” ฉบับนี้ ได้ผ่านกระบวนการทำงาน ทั้งจากระดับ บนลงล่าง คือในส่วนของหน่วยงานที่กำกับดูแลและขับเคลื่อนนโยบาย และจากระดับ ล่างขึ้นบน คือพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่านกลไก สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยคาดว่า จะนำไปสู่การนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ เพื่อกำหนดให้การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นวาระแห่งชาติ และสามารถปฏิบัติการขับเคลื่อนโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยราชการ สถานพยาบาล ร้านขายยา ชุมชน และประชาชน ฯลฯ
 
   ด้าน เภสัชกรหญิง ดร.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการประสานและบูรณาการฯ กล่าวว่า ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย ๖ ด้าน คือ
๑.การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) ทางห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาล และทางระบาดวิทยาในโรงพยาบาล ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
๒.การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ
๓.การป้องกัน ควบคุม AMR และการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในสถานพยาบาล
๔. การป้องกันและควบคุม AMR การใช้ยาต้านจุลชีพในการเกษตรและสัตว์เลี้ยง และการทำความเข้าใจกับเกษตรกร
๕.การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน
๖.การพัฒนาโครงสร้างและกลไกของการทำงานเชิงบูรณาการ การติดตามประเมินผล และประสานความร่วมมือภายในประเทศและต่างประเทศในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
 
   “แผนยุทธศาสตร์ฯ นี้ เน้นการนำสู่การปฏิบัติ (action-oriented) เมื่อยุทธศาสตร์ฯ นี้ผ่าน ครม. แล้ว ก็จะมีคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ให้มีความยั่งยืนต่อไป” เภสัชกรหญิง ดร.นิธิมา กล่าว
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ