‘สช. พร้อมภาคีฯ ปักหมุด สู้! โควิด-19’ บทพิสูจน์พลังพลเมืองตื่นรู้ฯ ตอกย้ำศักยภาพ ‘ชุมชน’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content
Audio file

   ร่อนตะแกรงความสำเร็จปฏิบัติการ “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19” พิสูจน์ชัด “อำนาจอ่อน” ช่วยหนุนเสริมมาตรการรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ “สช.” ปักหมุดความยั่งยืน เดินหน้ายกระดับจากประชาชนจิตอาสา สู่การมี “สำนึกพลเมือง” ที่รับผิดชอบต่อสังคม
 
   การร่วมหัวจมท้ายของทุกภาคส่วนอย่างเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับ “โควิด-19” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้ “อำนาจอ่อน” (Soft Power) เพื่อหนุนเสริมการทำงานของ “อำนาจแข็ง” (Hard Power) ที่กลายมาเป็นจุดแข็งและปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้
 
   ภายใต้สถานการณ์วิกฤตที่ฝุ่นกำลังตลบอยู่ แน่นอนว่านโยบายรัฐต้องมีความชัดเจนและเฉียบขาด แต่ความชัดเจนและความเฉียบขาดเหล่านั้น ก็มีโอกาสนำไปสู่การกระทบกระทั่งและความอึดอัดขุ่นหมองใจ แม้อำนาจแข็งจะเป็นสิ่งสำคัญท่ามกลางอุบัติการณ์โควิด-19 หากแต่ธรรมชาติของมนุษย์คือความเป็นอิสระ จึงไม่มีใครต้องการถูกขีดกรอบหรือบังคับ การจะใช้อำนาจแข็งอย่างเดียวจึงอาจไม่เพียงพอ
 
   

จุดเริ่มต้นของการรวมพลังฯ

 
   ในฐานะองค์กรสานพลัง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้ร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์ด้านสุขภาพและสังคม ขับเคลื่อนแผน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” ด้วยการเข้าไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อให้แต่ละชุมชน-พื้นที่ จัดทำ “ข้อตกลง” หรือแผนในการรับมือโควิด-19 ของตัวเองขึ้นมา หรือที่เรียกกันว่า “ธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด-19”
 
   เมื่อข้อตกลงเกิดขึ้นจากความเห็นพ้องของคนในชุมชน กลายเป็น “ฉันทมติ” ของพื้นที่ ทุกคนย่อมพร้อมใจกันนำไปบังคับใช้ ที่สำคัญก็คือข้อตกลงเหล่านั้นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับ “มาตรการของรัฐ” ด้วย
นี่คือตัวอย่างการใช้ “อำนาจอ่อน” หนุนเสริม “อำนาจแข็ง” นี่คือการสร้าง “พลเมืองตื่นรู้” เพื่อ “ช่วยชาติ” สู้ภัยโควิด-19
 
   

ชุมชนเข้มแข็งกับ “ข้อตกลงร่วม”

 
   เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ที่ สช. ขับเคลื่อนแผน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ฯ” ร่วมกับภาคีเครือข่าย นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ถอดบทเรียน ความร่วมมือร่วมใจของชุมชน สะท้อนถึงศักยภาพของพื้นที่ที่เข้มแข็งจนสามารถแสวงหา “ฉันทมติ” หรือ “กติกา” หรือ “ข้อตกลงร่วม” ในเรื่องยากๆ ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี
 
   ขณะนี้ มีการจัดเวทีหรือสมัชชาสุขภาพจังหวัดเกี่ยวกับรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ฯ แล้วไม่ต่ำกว่า 60 จังหวัด และทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนในระดับอำเภอและระดับตำบลก็มีการเชื่อมร้อยกลไกและการทำงานจนเกิดเป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่จำนวนมาก
 
   นพ.ปรีดา เล่าต่อว่า ผลพวงจากการทำงานที่เห็นผลได้อย่างชัดเจน คือความวิตกเกินกว่าเหตุของประชาชนลดลงเป็นอย่างมาก ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันในชุมชนได้แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัวในพื้นที่ ตลอดจนมีการวางระบบดูแล เฝ้าระวัง กักกัน อย่างรู้เท่าทัน นั่นทำให้ไม่เกิดภาพของความรังเกียจหรือแบ่งแยก หรือความขัดแย้งในพื้นที่ “พื้นที่ไหนที่เกิดกระบวนการปรึกษาหารือ ทำให้พื้นที่นั้นเกิดการพูดคุย เกิดความเข้าใจ และเกิดความตระหนัก รักใคร่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ นี่คือความงดงามและเป็นดอกผลของธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด” นพ.ปรีดา ระบุ
 
   

“ฐานราก” แห่งความสำเร็จ

 
   นพ.ปรีดา ยังให้ภาพต่อไปว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเหล่านี้มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 2 ประการ 1.ฐานทุนเดิม คือ ฐานทุนการเคารพและการให้ความสำคัญของสิทธิพลเมือง ฐานทุนเดิมจากพื้นที่เคยสร้างกระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล ฐานทุนเดิมทางการเมือง 2.รากฐานทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และมีกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ รวมทั้งการกระจายระบบบริการทั่วทั้งประเทศ
 
   “ความเข้มแข็งของสองส่วนนี้ ทำให้การเคลื่อนตัวของภาคพลเมืองได้รับการต่อยอดที่รวดเร็ว ในทางกลับกันหากเราไม่เคยมีองค์ประกอบเหล่านี้มาก่อน เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นก็คงไม่สามารถสร้างความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางเหมือนที่เกิดขึ้นในขณะนี้” นพ.ปรีดา ระบุ
 
   

ยกระดับประชาชนสู่สำนึกพลเมือง

 
   ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญและเป็นผู้ที่คลุกวงในการขับเคลื่อนแผนรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ฯ นพ.ปรีดา ยังบอกอีกว่า การขับเคลื่อนแผนรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ฯ นับเป็นการสู้วิกฤตเฉพาะหน้า แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งต่อประเทศได้ก็คือ “จะทำอย่างไร ที่จะยกระดับประชาชนที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีอยากช่วยเหลือคน ให้เป็นความสำนึกพลเมืองที่จะรับผิดชอบต่อสังคม”
 
   “สำนึกพลเมืองนี้ จะช่วยให้เกิดความแข็งแกร่งอย่างเป็นระบบมากขึ้น เปลี่ยนจากปริมาณไปสู่คุณภาพ คือไม่ใช่เพียงแค่จิตอาสา แต่เป็นเรื่องของสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมในการที่จะยกระดับสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทิศทางและจุดหมายที่ สช. ในฐานะองค์กรสานพลัง จะขับเคลื่อนไปให้ถึง” รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147