- 237 views
การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เพราะเป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน นางสาวอุไร โปร่งจิต ปลัดเทศบาลตำบลโคกจาน จังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการสานพลังสร้างสุขภาวะ ออกอากาศทาง FM96.5 เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นภาพการทำงานในพื้นที่อย่างชัดเจนขึ้นว่า
“เรา (ท้องถิ่น) ถือเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดหน่วยหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.เทศบาลในมาตรา 50 เองก็กำหนดหน้าที่ของเทศบาลไว้ในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ การป้องกันและระงับโรคติดต่อ เราจึงมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชน ทำยังไงให้เขาห่างไกลจากโควิด-19”
พื้นที่อำเภออุทุมพรพิสัยเป็นพื้นที่ปลอดโควิด-19 ทั้งอำเภอ ขณะที่จังหวัดศรีสะเกษนั้นมีผู้ติดเชื้อ 8 คน หนึ่งในจำนวนนั้นอยู่ในพื้นที่รอยต่อติดกับโคกจาน เป็นบุคคลที่กลับมาจากสนามมวยลุมพินี ที่สำคัญ คนในโคกจานก็ได้เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดด้วย แต่พื้นที่ทราบเรื่องและเข้าถึงตัวได้เร็วจึงทำการกักตัวและดูแลช่วยเหลือใกล้ชิด
ปลัดเทศบาลโคกจานกล่าวว่า การทำงานป้องกันเริ่มเป็นระบบยิ่งขึ้นในช่วงเดือนเมษายน เนื่องจากก่อนหน้านั้น ได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่แนะนำแนวทางการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 “เราเริ่มจากการล้อมวงคุยกันเพื่อทำให้เกิดธรรมนูญหรือข้อตกลงร่วมกันที่จะเป็นแนวปฏิบัติสำหรับชุมชน เชิญภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผอ.โรงเรียน ผอ.รพ.สต. ตำรวจ หน่วยกู้ชีพ พระสงฆ์ ฯลฯ มาคุยกัน แล้วก็เจอว่าปัญหาหลักในช่วงแรกๆ คือ ประชาชนฟังข่าวแล้วไม่เข้าใจ โควิดน่ากลัวไหม ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร”
ปลัดเทศบาลโคกจานเล่าต่อว่า ที่ประชุมร่วมหลายภาคส่วนดังกล่าวได้แต่งตั้งทีมคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อคอยคัดกรอง ให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าโควิด-19 ร้ายแรงอย่างไร ระบาดได้ง่ายแค่ไหนและระบาดไปแล้วทั่วโลกอย่างไร เมื่อประชาชนเกิดความตระหนักก็จะแนะนำวิธีป้องกันตนเอง “ทีมหลักอีกส่วนคือ ชุด อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจะคอยรายงานหากกลุ่มเสี่ยงเข้ามาในพื้นที่ ทั้งคนที่มาจากต่างจังหวัด มาจากต่างประเทศ พวกเขาจะรายงานเข้ากลุ่มไลน์โรคติดต่อของตำบล”
สำหรับเนื้อหาของข้อตกลงนั้น ปลัดเทศบาลดอกจานเล่าว่า มีร่างตั้งต้นจาก สช.ที่ทำให้พอเห็นแนวทาง โดยแบ่งเป็นหมวดการปฏิบัติตนของบุคคล ครอบครัว ชุมชน การจัดการพื้นที่สาธารณะและสิ่งแวดล้อมในชุมชน คณะกรรมการหลายฝ่ายที่ได้มาประชุมร่วมกันใช้ร่างตั้งต้นนี้แล้วปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสมเป็นข้อตกลงของชุมชนเอง ซึ่งมาตรการในการปฏิบัติตัวและการดูแลครอบครัวทำไม่ต่างจากประกาศของกระทรวง ชุมชนทำอ่างล้างมือติดตั้งไว้หลายจุด มีเจลแอลกอฮอล์กระจายอยู่ทุกจุด อสม.คอยให้ความรู้ เยี่ยมเยือนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง มีการทำความสะอาดสิ่งของสาธารณะ ขอให้เลื่อนงานประเพณีเกือบทั้งหมดไปก่อน เหลือจัดเฉพาะงานศพ ซึ่งก็ต้องมีการคัดกรอง
“หากไม่ทำตามธรรมนูญที่ตกลงร่วมกัน ก็จะให้ผู้นำชุมชนกล่าวตักเตือน ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ถ้ายังไม่ดีขึ้น ก็รายงานกรรมการชุดใหญ่ แต่ภาพรวมส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือด้วยดี”
สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนในช่วงถัดมาหลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ก็คือ การฟื้นเศรษฐกิจ เร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
“พื้นที่โคกจานเป็นชนบทกึ่งเมือง มีสิบชุมชนหมู่บ้าน เป็นพื้นที่การเกษตร มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่าย ผู้นำกลุ่มก็ได้ขยายเพิ่มจำนวนสมาชิก ท้องถิ่นก็สนับสนุนเครื่องมือ ทางเกษตรก็มาให้ความรู้เพิ่มเติม มีกลุ่มผ้าไหมที่พัฒนาลายดอกจานเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ที่สำคัญคือ ทุกหมู่บ้านผ่านการอบรมจากพัฒนาชุมชนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เราพึ่งตนเองกันได้มาก ปลูกพืชผัก เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่พอกินได้”
“นอกจากนี้ วิกฤตโควิดยังช่วยให้เกิดธุรกิจออนไลน์ เช่น กลุ่มฮักอุทุมพรเริ่มทำอาหารขายทางออนไลน์ การค้าขายทางไลน์คึกคักขึ้น ทำให้เรารู้ด้วยว่าชุมชนเรามีแหล่งอาหารดีๆ ที่เราเคยไม่รู้เลย”
ทั้งหมดนี้คือ ตัวอย่างการทำงานในท้องถิ่นซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังปลอดจากโควิด-19 และเริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต “ถึงที่สุด ไม่ว่าภาครัฐองค์กรไหนจะเก่งแค่ไหนก็ตาม หากขาดความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมทำจากพี่น้องประชาชนเสียแล้วก็ยากที่จะสำเร็จ โคกจานสามารถปลอดโควิด-19 ได้ก็เพราะได้ความร่วมมือจากคนในชุมชนที่รวมเป็นหนึ่ง แล้วยังได้ความร่วมมือสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นอย่างพร้อมเพรียง” ปลัดเทศบาลโคกจานกล่าวทิ้งท้าย
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147