- 420 views
วันที่ 16 ตุลาคม นี้ ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2562 ในช่วงแรก หลังจากนั้นได้มอบให้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมต่อ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานจากภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อจัดทำข้อเสนอการพัฒนานโยบายและระบบรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะของไทย เล็งเพิ่มยอดการบริจาคอวัยวะและปลูกถ่ายไตอีกเท่าตัว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. วันนี้ มีการพิจารณาหลายระเบียบวาระ ที่สำคัญคือได้พิจารณาข้อเสนอของสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย และศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ที่เสนอให้มีการพัฒนานโยบายและระบบการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะของไทยให้มีประสิทธิภาพ เป็นมืออาชีพมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายการปลูกถ่ายอวัยวะที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคตอย่างรวดเร็ว และเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานร่วมจากภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา สภากาชาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง โรงพยาบาลของรัฐและของเอกชน ชมรมพยาบาล และเครือข่ายผู้ป่วย โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการ คสช. เป็นประธาน เพื่อทำข้อเสนอดังกล่าวให้เสร็จภายใน 3 เดือน
“ผมสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะของไทยให้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะนอกจากจะเกิดผลดีต่อระบบบริการสาธารณสุขและผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต และโรคตับโดยตรงแล้ว ยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกถึงศักยภาพทางการแพทย์ระดับสูงของไทย และบอกถึงความมีจิตสาธารณะขั้นสูงสุดของคนไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น นโยบายเมืองไทยเป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศ หรือนโยบายไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก และยังสอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 25(4) ที่กำหนดหน้าที่และอำนาจไว้ว่า จัดให้มี หรือส่งเสริม สนับสนุนให้มีกระบวนการในการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย” นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประธาน คสช. กล่าว
นพ.สุรสีย์ พร้อมมูล นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งานปลูกถ่ายอวัยวะได้ก้าวหน้าไปอย่างมากมาย เช่น จากเดิมปลูกถ่ายไตได้ปีละประมาณ 200 ราย ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็นปลูกถ่ายไตได้ปีละกว่า 700 ราย ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน สามารถทำงานกลับคืนสู่สังคมและอยู่ร่วมกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข
“ปัญหาของระบบปลูกถ่ายอวัยวะของไทยในขณะนี้ที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการระบบรับบริจาคอวัยวะ การสนับสนุนทีมศัลยแพทย์ผ่าตัดนำอวัยวะออก การจัดสรรอวัยวะที่ได้รับให้เป็นธรรม และงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอจากสามกองทุนของรัฐและการมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลเอกชน” นายกสมาคมปลูกถ่าย
ต่อการเร่งยกระดับระบบการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะของไทยที่ตั้งเป้าจะเพิ่มอีกเท่าตัว นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะระบบนี้ของไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการขยายตัวเร็วขึ้นหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย Service plan ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนี้เป็นอันดับต้นๆ รวมทั้งการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสามกองทุนภาครัฐ ทำให้การบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะได้ผ่านจุดยากเชิงระบบมาแล้ว และต่อไปนี้ถ้าทุกหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันพัฒนาระบบเพิ่มเติมให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น เหมือนที่ประเทศสเปนประสบความสำเร็จมาแล้วและได้รับการยอมรับเป็นผู้นำเรื่องนี้ของโลก
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. เปิดเผยต่ออีกว่า นอกจากเรื่องการพัฒนาระบบการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว การประชุมของ คสช. ครั้งนี้ ยังเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเรื่องการเตรียมการรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 มติ ครอบคลุมเรื่องการออมเพื่อสังคมสูงวัย การเสริมสร้างศักยภาพและการจัดการของชมรมผู้สูงอายุ การปรับสภาพแวดล้อมรองรับสังคมสูงวัย และร่วมสร้างชุมชนรอบรู้สุขภาพและพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ สช. ประสานกับองค์กรภาคีหลักดำเนินงานให้เกิดการขับเคลื่อนตามมติ และสรุปนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขยายผลมากขึ้น
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143