สมัชชานโยบายรองรับผู้สูงวัยชู 4 มติ เชื่อมทุกส่วน เคลื่อนทั้งสังคม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มีการจัดงานสมัชชานโยบายรองรับสังคมสูงวัย ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2562 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายในงานมีการนำเสนอระเบียบวาระเกี่ยวกับนโยบายรองรับสังคมสูงวัยใน 4 ด้านซึ่งผ่านการศึกษาข้อมูล เลือกประเด็นสำคัญจากการจัดเวทีประชาเสวนาหาทางออก และและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้ที่ประชุมให้การรับรอง ได้แก่ 1.ด้านเศรษฐกิจ 2.ด้านสภาพแวดล้อม 3.ด้านสุขภาพ และ 4.ด้านสังคม งานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กว่า 500 คน
 
   นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ กรรมการบริหาร รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดสมัชชาเฉพาะประเด็นเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ตามแนวทางประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาปรึกษาหารือและทำงานร่วมกัน งานนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาประเทศตามแนวทางประชารัฐ เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ
 
   ศาสตราจารย์กิตติคุณ เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และที่ปรึกษากรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย กล่าวปาฐกถาว่า ขอฝากประเด็นสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.เรื่อง ‘ผู้สูงอายุ’ กับ ‘สังคมสูงวัย’ เป็นคนละเรื่องกัน สิ่งที่น่ากังวลและควรพูดให้มากในเชิงนโยบายคือ นโยบายรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก และทุกองคาพยพของสังคมต้องร่วมมือกัน จึงควรขยายการศึกษาและดำเนินการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น มิติด้านเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องการออม แต่ต้องดูการบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เพราะปัจจุบัน เริ่มใช้จ่ายกับผู้สูงวัยมากกว่าเด็ก 2.ต้องทำความเข้าใจพลวัตการเปลี่ยนแปลงประชากรว่า จุดสำคัญคือภาวะการตาย นับตั้งแต่การเริ่มทำสำมะโนประชากรในปี 2490 ทำให้วิเคราะห์อายุเฉลี่ยของคนได้ ในเวลานั้นอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 45-47 ปีเท่านั้น แต่ปัจจุบันคนอายุยืนยาวมาก ดังนั้น ปัญหาไม่ใช่เฉพาะอัตราการเกิดที่ลดลง แต่สิ่งที่ส่งผลให้เปลี่ยนโครงสร้างประชากรมากคือ การตาย นักประชากรศาสตร์ต้องอธิบายให้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสังคมสูงวัยเข้าใจ และต้องมีการคำนวณอายุเฉลี่ยหลังอายุ 60 ปีด้วย 3.ปัจจุบันไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 90 ปีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในครอบครัวหนึ่งจึงไม่ได้มีผู้สูงวัยแค่ 1 รุ่นแต่มีถึง 2 รุ่นแล้ว ปัญหานี้น่าห่วงอย่างยิ่ง การพิจารณาสังคมสูงวัยจึงไม่ใช่พิจารณาภาพนิ่งช่วงเดียวแล้วจบ
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคมและชุมชนฯ สปช. กล่าวว่า สังคมสูงวัย เป็น 1 ใน 5 ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยอยู่แบบเดิมไม่ได้ โดยอีก 4 เรื่องที่เหลือคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน อาหารและน้ำ นวัตกรรมและเทคโลโลยี ในเรื่องสังคมสูงวัยนั้น ถึงแม้ขยายการศึกษาและนำเสนอเป็น 4 มิติก็ยังไม่เพียงพอ ภายใต้แบบแผนของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวสังคมก็มีระบบ โครงสร้าง วิธีคิดที่สูงวัยและยากต่อการเท่าทันโลก สิ่งที่อยากจะเน้นคือ ชุมชนยังคงเป็นฐานพระเจดีย์ที่สำคัญ ปัจจุบันมีหลายชุมชนที่เป็นต้นแบบการเตรียมพร้อมเรื่องนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม
 
   “การจัดการเรื่องสังคมสูงวัยต้องไม่แยกเรื่องนี้ออกมาตายตัว มันเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างชุมชนเข้มแข็งและสังคมเข้มแข็ง โดยควรเน้นการพัฒนาแบบองค์รวม เน้นการมีส่วนร่วม ยึดภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ใช้ชุมชนเป็นฐาน ไม่ยึดติดตำรา และทำไปมีความสุขไป ทำอย่างมีความเพียร ทั้งหมดนี้คือ ศาสตร์พระราชา นั่นเอง ชุนชนท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานของเจดีย์เป็นความหวัง เราต้องทำลงไปข้างล่างให้ได้ แล้วให้ทุกอย่างบูรณาการร่วมกัน” นพ.อำพล กล่าว
 
   นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หัวข้อหนึ่งที่ถือว่าสำคัญมากในยุทธศาสตร์ชาติ คือ สังคมสูงวัย มีการพูดถึงการดูแลสังคมสูงวัยในเชิงรุกซึ่งไม่ใช่หน้าที่รัฐบาลเท่านั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมขับเคลื่อนเนื่องจากสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของทุกคน ประเด็นท้าทายมีหลายประการ เช่น การออมเงินเพื่อเตรียมการก่อนสูงอายุซึ่งมีน้อยมากเพียง 1 ใน 3 ของประชากรที่มีการเตรียมพร้อม ในเบื้องต้นต้องทำให้ประชากรวัย 40 ปีขึ้นไปตระหนัก รอบรู้ และเตรียมการทุกด้านก่อนชรา ส่วนผู้ที่อายุ 60 ปีไปแล้วต้องได้รับการส่งเสริมให้ถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญหา ประสบการณ์ให้กับคนรุ่นหลัง สร้างงานที่เขายังทำได้เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีการปรับพื้นที่สภาพแวดล้อมให้เหมาะกับคนทุกวัย เพิ่มบทบาทภาคส่วนอื่นๆ ในการเพิ่มโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
 
   ผศ.ทพ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี ประธานกรรมการดำเนินการประชุมสมัชชานโยบายรองรับสังคมสูงวัย ฉายภาพรวมว่า ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานที่ทำงานเรื่องนี้ แต่มักแยกส่วนกันทำงานและทำเฉพาะประเด็นของตนเอง สช. จึงทำการศึกษาและรวบรวมข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ มาทำให้เกิดการบูรณาการในการวางแผน นำเสนอมาตรการต่างๆ แบ่งเป็น 4 มติ รวมถึงเสนอจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนมติสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยนโยบายรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งประกอบด้วยภาคีที่หลากหลาย คอยติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน และรายงานผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
 
   ผศ.ทพ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ประชุมรับรองมติทั้งหมดในวันนี้เป็นที่เรียบร้อย จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่สำคัญที่เกี่ยวกับผู้สูงวัยอยู่แล้วเพื่อติดตามและขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ ข้อเสนอในสมัชชาฯ ประกอบด้วย
 
   1.ด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการนำเสนอเรื่องการออมหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างที่เป็นกำลังเริ่มเป็นที่สนใจในต่างจังหวัดคือ การออมด้วยการปลูกไม้ยืนต้น โดยสมัชชาฯ เสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ รับรองสิทธิของผู้ปลูกในการตัด/แปรรูป/จำหน่ายไม้ยืนต้นในพื้นที่กรรมสิทธิ์ตนเอง และให้กระทรวงการคลังร่วมกับส่วนอื่นๆ จัดตั้งองค์กรส่งเสริมการปลูกไม้เพื่อการออม โดยรับรองให้ไม้ดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ในการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การประกันตัว การกู้ยืม การลงทะเบียนเรียน ฯลฯ
 
   2.ด้านสังคม เน้นการเสริมสร้างศักยภาพและชมรมผู้สูงอายุ เพราะการรวมกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดสุขภาวะ ข้อเสนอคือ การมีพื้นที่กลางที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้สำหรับผู้สูงอายุในทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการทำกิจกรรมภายใต้การบริหารงานของผู้สูงอายุเอง หลายหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนอยู่ก็สามารถสนับสนุนผ่านพื้นที่กลางดังกล่าวเพื่อให้เกิดการบูรณาการ
 
   3.ด้านสภาพแวดล้อม ปัจจุบัน ผู้สูงอายุไทยช่วยตัวเองไม่ได้มากถึงร้อยละ 5 ส่วนที่อยู่ลำพังมีสูงถึงร้อยละ 11 อยู่กับคู่สมรสมีร้อยละ 21 การเดินทางของผู้สูงอายุไทยเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องพึ่งพิงคนอื่น ทำให้มักต้องอยู่แต่กับบ้าน จึงเสนอว่าให้ขยายโครงการ 1 ตำบล 1 ศูนย์อยู่ดี ซึ่งเป็นงานนำร่องที่ สสส. ออกแบบ Universal Design Center ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของหลายภาคส่วนออกไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
 
   4.ด้านสุขภาพ เป็นการหารือเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ สปสช. หรือระบบสวัสดิการต่างๆ รองรับไม่ทั่วถึง โดยเสนอให้ระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ศาสนสถาน สถาบันการศึกษา หน่วยบริการสุขภาพ เข้ามาช่วยดูแลคนในชุมชน สร้างสหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารเวลา เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว รวมถึงการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านเครื่องมืออย่างสมัชชาสุขภาพพื้นที่ ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ เป็นต้น
 
   “อีกส่วนที่เกี่ยวกับเอกชน คือ เราพยายามสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถดูแลผู้สูงอายุเองได้ เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย จึงชวนคุยว่ามีโอกาสไหมที่เอกชนจะจัดสรรเวลาให้พนักงานได้ดูแลพ่อแม่หรือคนสูงวัยในครอบครัว หรือกรณีที่บางหน่วยงานมีศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์นี้จะขยายไปถึงผู้สูงวัยได้ไหม” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว
 
   ทั้งนี้ จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของโลกที่คนเกิดน้อยลงและอายุยืนยาวมากขึ้น องค์การสหประชาชาติประเมินสถานการณ์ว่า ปี 2544-2643 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 1 ใน 10 ของประชากรมาตั้งแต่ปี 2548 และจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ ในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือปี 2564 โดยจะมีประชากรสูงวัยจำนวน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และภายในปี 2578 ประมาณการว่าประชาการสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ