- 50 views
เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ “สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย” ใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว ทาง คณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดกลุ่มเครือข่ายและสนับสนุนการมีส่วนร่วม จึงจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสุชน ชั้น ๒ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มุ่งหวังให้เวทีใหญ่ครั้งนี้ ทุกคน ทุกภาคส่วน ได้มาร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์มากที่สุด
โดยทาง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้รายงานถึงการปรับปรุงข้อมูลการจัดกลุ่มเครือข่าย พ.ศ.๒๕๕๘ ให้มีความทันสมัยและครอบคลุมกลุ่มต่างๆอย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมเชิญเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ นี้ จำนวน ๒๘๐ กลุ่มเครือข่าย
กลุ่มเครือข่าย |
จำนวนกลุ่มเครือข่าย |
จำนวนเครือข่าย |
จำนวนโควต้า |
๑.กลุ่มเครือข่ายพื้นที่ (MA) |
๗๗ กลุ่ม |
๗๗ กลุ่ม |
๗๗ กลุ่ม |
๒.กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชน และเอกชน (MK) |
๗๔ กลุ่ม |
๔๔๕ กลุ่ม |
๔๕๙ กลุ่ม |
๓. กลุ่มเครือข่ายภาควิชาชีพ วิชาการ (MK) |
๓๘ กลุ่ม |
๑๓๑ กลุ่ม |
๑๙๒ กลุ่ม |
๔. กลุ่มเครือข่ายภาคการเมือง ราชการ และองค์กรของรัฐ (MP) |
๙๑ กลุ่ม |
๒๙๔ กลุ่ม |
๓๗๒ กลุ่ม |
รวม |
๒๘๐ กลุ่ม |
๙๔๗ กลุ่ม |
๑,๘๑๘ กลุ่ม |
“ภาคประชาสังคมที่มาเข้าร่วมงาน จะเข้าไปมีส่วนร่วมในหลายเวที ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งที่เกี่ยวกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ และเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯจะต้องพิจารณาว่า ถ้าเขามาร่วมแล้ว จะทำอย่างไรให้ได้รับประโยชน์กลับไปมากที่สุด” อ.ไชยยศ บุญญากิจ ประธานอนุกรรการฯระบุ
ที่ประชุมเห็นว่า คณะอนุกรรมการฯ ยังสามารถเข้าไปเป็น “พี่เลี้ยง”ในการสร้างเสริมศักยภาพ ความร่วมมือ และการเตรียมความพร้อมของภาคส่วนต่างๆได้ มากกว่าการสังเกตการณ์เท่านั้น เช่น อาจเข้าไปแลกเปลี่ยนเพื่อทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกลุ่มเครือข่าย ตั้งแต่เวทีเตรียมความพร้อมก่อนงานสมัชชาใหญ่จะเริ่มขึ้น เพื่อสื่อสารการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
โดย รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปิติพร จันทรทัต ณ อยุธยา เสนอมุมมองน่าสนใจว่า ปัจจุบันนโยบายสาธารณะรูปแบบใหม่ จะต้องสร้างจากฐานราก คือจิตสำนึกของประชาชนจริงๆ ส่วนบทบาทของภาครัฐ ภาควิชาการ คือกลไกหนุนเสริมที่สำคัญเพื่อให้แนวทางที่ประชาชนต้องการเกิดขึ้นได้
“ดังนั้น ถ้ามีการปรับจูนเป้าหมายทุกฝ่ายให้ตรงกันว่า การสร้างนโยบายสาธารณะที่ดี ก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ก็จะเป็นมิติใหม่ในการทำงานร่วมกันที่ดีมาก”
ดร.สุภาภรณ์ สงค์ประชา หนึ่งในอนุกรรมการ ที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดทำแบบสอบถามประเมินความพึงพอใจการจัดประชุม “รวมพลังภาคีเครือข่าย สู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘” เพื่อให้ สช.ได้ส่งแบบสอบถามนี้ ไปยังเครือข่ายจำนวน ๒๓๓ คน พบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามมา ๑๑๐ คน แบ่งเป็นภาคประชาสังคม ตอบกลับร้อยละ ๕๒ , ภาควิชาชีพ/วิชาการ ร้อยละ ๔๖ และ ภาคราชการ ร้อยละ ๔๒ ปรากฎว่า ส่วนใหญ่เคยเข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาแล้ว และเข้าใจในกระบวนการสมัชชามากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม แต่ละภาคส่วนก็มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของอนุกรรมการฯและสช.ทั้งสิ้น อาทิ ภาคประชาสังคม เห็นว่าการจัดประชุมทำได้ดีแล้ว แต่อยากให้มีข้อบังคับให้ทุกหน่วยงานอยู่ร่วมประชุมจนจบ เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเต็มที่ ทั้งในและนอกห้องประชุม รวมทั้งเพิ่มเวลาการพูดคุยในกลุ่มที่มากกว่านี้
“เป็นการเปิดโอกาสให้เรามีหัวข้อสนทนาอีกหลายเรื่อง นอกเหนือจากการนำเสนอในซุ้มต่างๆแล้ว เรายังได้รับความรู้ ได้เพื่อนร่วมทางและกำลังใจในการทำงานต่อไป” ขณะที่ภาควิชาชีพ/วิชาการ มีข้อเสนอแนะว่า อยากเห็นการทำงานที่เปิดให้ภาคีที่หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ และการจัดประชุมครั้งต่อไป ควรมีโจทย์หรือข้อมูลส่งไปให้ล่วงหน้า เพื่อทำความเข้าใจและหาข้อมูลเพิ่มเติมมาก่อน เนื่องจากเวลาที่แลกเปลี่ยนกันมีน้อย เช่นเดียวกับภาคราชการ ที่เสนอให้จัดกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้เครือข่ายเป็นระยะๆ และการขยายวงการมีส่วนร่วมให้กว้างขวาง แต่เน้นเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลการประเมินผลนี้ว่า เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการทำงานต่อไป
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143