- 67 views
สช. ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนในภาคเหนือ ร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะ “การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” แปลงสู่ยุทธศาสตร์ความร่วมมือในการขับเคลื่อน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนและจังหวัดตาก หวังสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่กลไกระดับชาติเชื่อมถึงระดับพื้นที่ ในระยะ 3 ปีให้เห็นผล
จากปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงต้นปี 2562 เข้าสู่ระดับวิกฤตในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นเหตุให้ภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ตื่นตัวและเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่ต้องลุกขึ้นมาร่วมกับภาครัฐเพื่อจัดการและยกระดับสถานการณ์ “ให้เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ไข”
เมื่อวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนและระดมความเห็นเพื่อสร้างความร่วมมือในการผลักดันนโยบายสาธารณะ “การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 ให้เกิดผล สู่การจัดทำ “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือในการขับเคลื่อน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนและจังหวัดตากในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565)” ขึ้น ที่จังหวัดลำปาง ผู้เข้าร่วมมาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน เอ็นจีโอ และนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ กว่า 60 คน ซึ่งในวันแรก ผู้เข้าร่วมได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังสถานการณ์ การดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต หัวหน้าวนอุทยานม่อนพระยาแช่ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าพระบาท-ม่อนพระยาแช่ นายกเทศบาลเมืองเขลางค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิชัยและผู้นำชุมชนตำบลพิชัย อำเภอเมืองลำปาง และในช่วงเช้าวันที่สอง เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นต่อสถานการณ์ในภาพรวม
สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขไฟป่าและหมอกควันทั้งในระดับชาติส่วนกลาง ในระดับภาคที่มีแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้อำนวยการฯ ภาคเหนือ และระดับจังหวัดที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการในรูปแบบ Single Command โดยมีหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องร่วมเป็นกลไกดำเนินงาน
แต่จากการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พบว่า ถึงแม้จะมีกลไกการสั่งการและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐอย่างเข้มข้นแล้ว แต่จำนวนการเกิด Hot Spot ไม่ลดลง ภาพรวมยังเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงรับ ต่างหน่วยต่างทำงานภายใต้ภารกิจของตน ทั้งมีเสียงสะท้อนจากท้องถิ่น ชุมชนและภาคธุรกิจเอกชนในการขอเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข สช. จึงจัดเวทีครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ-ราษฎร์-ท้องถิ่น-เอกชน ร่วมระดมความคิดจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือ เชื่อมโยงกลไกศูนย์อำนวยการฯ ทั้ง 3 ระดับ เป็นการสานพลังแนวดิ่งและแนวราบร่วมกัน ใช้อำนาจอ่อน (Soft Power) ในการจัดการปัญหาฯ”
ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร ศิรินาวิน ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตที่ 1 และประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปาง กล่าวว่า “ปัญหานี้ เป็นประเด็นที่คณะกรรมการเขตสุขภาพฯ และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั้ง 9 จังหวัดให้ความสำคัญ เพราะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงในพื้นที่จังหวัดของตนและส่งผลไปยังจังหวัดอื่นใกล้เคียง ในช่วงนี้ปกติสถานการณ์ควรจะลดลง แต่ในปีนี้กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นที่ทั้ง 9 จังหวัดจะมาจับมือทำงานร่วมกัน โดยคณะกรรมการเขตสุขภาพฯ จะช่วยหนุนเสริมในการประสานงานและบริหารจัดการ การจัดเวทีแลกเปลี่ยน/ประชุมปรึกษาหารือ รวมทั้งการติดตามและประเมินสถานการณ์ในภาพรวม ในส่วนงานการพัฒนาระบบฐานข้อมูล/วิชาการ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความร่วมมือ จะจัดตั้งกลไกคณะอนุกรรมการเฉพาะประเด็นที่มีองค์ประกอบจากผู้แทนทุกภาคส่วนใน 9 จังหวัดเข้าร่วมด้วย”
สุพจน์ หลี่จา สมัชชาสุขภาพชาติพันธุ์ เสนอว่า “ทุกฝ่ายจะต้องหยุดการเหยียดและตีตรากลุ่มชาติพันธุ์ว่า เป็นผู้ก่อปัญหาเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องสร้างกลไกให้คนอยู่กับป่าได้ อีกทั้งต้องสร้างการสนทนาร่วมกันระหว่างพี่น้องชนเผ่าและคนเมือง เพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา”
สุรพล ตันสุวรรณ อดีตรองนายกเทศมนตรีนครลำปาง อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง และประธานชมรมจักรยานจังหวัดลำปาง เสนอว่า “นอกจากรัฐบาลออกมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับธุรกิจเอกชนสนับสนุนชุมชนผู้ดูแลรักษาป่าได้ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิที่ยังขาดการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้แล้ว รัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเอกชนได้เข้ามามีบทบาทที่มากกว่าการบริจาคเงิน โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมเชิงรุกที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีศักยภาพ”
ในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นต่อแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพระดับพื้นที่ร่วมกันใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนและจังหวัดตาก เพื่อนำเสนอในที่ประชุมรวม โดยข้อเสนอของแต่ละกลุ่มตั้งแต่ในระดับชาติจนถึงในระดับพื้นที่ต่างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การสร้างช่องทางให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการแก้ปัญหาหมอกควันทุกระดับ การสร้างกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การสร้างและส่งต่อองค์ความรู้และข้อมูลในการจัดการปัญหาไฟป่า การส่งเสริมสนับสนุนการทำเกษตรแบบยั่งยืน การดึงความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การนำแนวคิดป่าเปียกมาใช้เพื่อป้องกันไฟป่า การหาพื้นที่การจัดการไปไฟป่าเพื่อถอดบทเรียนและสร้างตัวแบบเพื่อให้ความรู้ในพื้นที่ยกไปสู่ระดับจังหวัด เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังเห็นว่า ควรใช้ สมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด เป็นกระบวนระดมสรรพกำลังและความร่วมมือ รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิด ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ซึ่งเป็นรูปธรรมของข้อตกลงร่วมเพื่อกำกับให้มีการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้อง หนุนเสริมซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตกลงกัน ในการนำข้อเสนอแนะ ไปจัดทำร่างยุทธศาสตร์ความร่วมมือในการขับเคลื่อน การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อนำเสนอผ่านกลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชนและกลไกอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143