สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ร่วมสานพลัง สร้างเครื่องมือตามหลักประชาธิปไตย สร้างสุขภาวะได้ด้วยมือของคนในชาติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ชูประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สร้างเครื่องมือสานพลังทุกฝ่ายในสังคม เปิดพื้นที่กลาง ร่วมหารือ แลกเปลี่ยนปัญหา แนะ คิด แก้ไข ด้วยตนเอง ปูทางสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
 
   เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2559 เป็นประธานเปิดการประชุม กล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่า คือ หนึ่งในรูปธรรมความสำเร็จของแนวทางประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งหมายถึงการเป็นพื้นที่กลางให้ทุกฝ่ายเข้ามาปรึกษาหารือในประเด็นต่างๆ ร่วมกันรับผิดชอบ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
 
   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 พ.ศ. 2559 กำหนดแนวคิดหลักว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน” โดยได้นำหลักคิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมดลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นแนวทางร่วมกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2559 โดยมีเป้าหมายร่วมไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน
 
   “สมัชชาสุขภาพในครั้งที่ 9 เป็นผลของความสำเร็จที่สืบเนื่องมาจากการมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างเป็นระบบ โดยมีกฎหมายรองรับ เปิดเป็นพื้นที่กลางให้เกิดการปฏิบัติตามหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” นพ.ศุภกิจกล่าว
 
   สอดคล้องกับนายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม องค์ปาฐกกล่าวปาฐกถาเน้นถึงความสำคัญของสมัชชาสุขภาพในฐานะเครื่องมือเพื่อแก้ไขความป่วยไข้ของสังคมตามแนวทางของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
 
   นายชัยวัฒน์กล่าวถึงเหตุของความป่วยไข้ 3 ประการของสังคมสมัยใหม่ ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ และจิตวิญาณของคนในสังคม เรื่องการเมือง นายชัยวัฒน์ยกตัวอย่างกรณีสงครามกลางเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลายครอบครัวต้องพลัดพรากจากกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองผิดธรรมชาติที่มุ่งห้ำหั่นกันเอง ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจนั้นเห็นได้จากการพัฒนาที่ผ่านมา ความเจริญและมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อจิตวิญญาณของคนในสังคมซึ่งปัญหาทางสุขภาพนั้นเป็นผลพวงมาจากปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หรือที่เรียกว่า Health Determination ดังนั้น การถือกำเนิดของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงเป็นเสมือนทางออก เป็นยารักษาโรคให้กับประชาชนในประเทศ สามารถฉวยใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ด้วยตนเอง อย่างเป็นประชาธิปไตย
 
   “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ ดังนั้นให้ถือโอกาสนี้สร้างประชาธิปไตยที่กินได้เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน ” นายชัยวัฒน์กล่าว
 
   เช่นเดียวกับข้อเสนอของแม่ประมวล มาลัย เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ต.เขาคอก จ.บุรีรัมย์ ที่เสนอให้เครือข่ายสมัชชาสุขภาพในแต่ละพื้นที่หันมาพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยใช้ทุนทางสังคมที่แต่ละชุมชนมีอยู่มาเป็นต้นทุนในการดำเนินชีวิต
 
   นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงบูธให้ความรู้ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนโยบายที่เป็นระเบียบวาระเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายใหม่ของปี 2559 เช่น บูธให้ความรู้เรื่องการป้องกันลูกน้ำยุงลาย พร้อมแจกอุปกรณ์และสาธิตวิธีป้องกันไข้เลือดออกด้วยตนเองภายในครัวเรือน รวมถึงเวทีเสวนาในประเด็นทางสังคมต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาวะชาวนากับระบบการจัดการข้าวที่ยั่งยืน เป็นต้น
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ