- 99 views
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 มีการจัดประชุมปรึกษาหารือ ‘สานพลังการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เชื่อมโยงกลไกและประเด็น: ชาติ-เขต-จังหวัด-พื้นที่’ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อหารือถึงบทบาทและความร่วมมือของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) สมัชชาสุขภาพจังหวัด คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และหน่วยจัดการที่ทำหน้าที่สนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ในระดับพื้นที่ โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนกว่า 100 คน เข้าร่วมประชุม
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ระบบสุขภาพก็เริ่มมีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับปัจจัยที่มากำหนดสุขภาพ (Social determinants of health) จึงต้องเชื่อมภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่โครงสร้างของหน่วยงานและภารกิจที่ต่างกันทำให้การทำงานแบบข้ามหน่วยงานทำได้ยาก รัฐบาลที่ผ่านมาจึงได้สร้างเครื่องมือใหม่ 2 เครื่องมือผ่านระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี คือ กขป. 13 เขตทั่วประเทศ และ พชอ.กว่า 800 อำเภอทั่วประเทศ โดยมีแผนที่จะเชิญชวนทุกเขตเลือกประเด็นขับเคลื่อนมาร่วมกันถักทอทำด้วยกัน ทั้งในแนวราบและแนวตั้ง เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ทั้งหมด
นพ.ณรงศักดิ์กล่าวต่อว่า กขป. เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา 1.ความไม่มีประสิทธิภาพของการบริหารงบประมาณ 2.การมองสุขภาวะและสุขภาพของสังคมว่าไม่ใช่แค่เรื่องการเจ็บป่วย แต่เกิดจากปัจจัยทางสังคมมากมายที่เกี่ยวกับภาคส่วนอื่นด้วย 3.หน่วยงานราชการเป็น hard power ต่างคนต่างทำ ต่างเป้าหมาย ทำให้มีช่องว่าง กขป. ซึ่งเป็นกลไกแบบ soft power ก็จะมาช่วยเสริมการทำงาน แนวคิดเช่นนี้เป็นแนวโน้มในช่วงศตวรรษที่ 21 ที่ประเทศซีกโลกตะวันตกเริ่มขยับแล้ว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ของตนเองในช่วงที่ผ่านมา คำว่า “บูรณาการ” นั้นเป็นคำที่ได้ยินมานาน แต่ในทางปฏิบัติหน่วยงานต่างๆ แม้ทำเรื่องเดียวกันก็มีโอกาสที่จะทำงานร่วมกันน้อยมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องทำงานเชิงรุก โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพออกไปพูดคุยหรือประสานกับหน่วยงานรับผิดชอบอื่นๆ เพื่อให้หน่วยงานนั้นๆ เกิดการยอมรับและหันมาร่วมกันแก้ไขปัญหา
นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานของ พชอ. กล่าวว่า รูปแบบของ พชอ. เริ่มจาก 1.การสร้างความเข้าใจกับกลไกจัดการระดับพื้นที่ทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล 2.มีระบบข้อมูลมาหนุนเสริมการทำงาน 3.mapping และ matching ประเด็นหลักร่วม กระบวนการทำงานที่ไม่ผูกติดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง มีหลายภาคส่วนมาร่วมกัน มีความสมดุลระหว่างตัว hard power และ soft power แต่ก็มีสิ่งที่ท้าทายอยู่ว่า จะดึงสถาบันวิชาการในพื้นที่มาช่วยสนับสนุนงานของ กขป. หรือขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพชีวิตในพื้นที่ได้อย่างไร
สุทธินันท์ บุญมี ประธาน กขป. เขตพื้นที่ 7 และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ต้องชมเชยคนคิดนโยบาย กขป. และ พชอ. ที่ทำให้เกิดการเชื่อมกันทั้งระบบ เท่าที่คุยกับนายอำเภอ ทุกเรื่องนั้นเข้ากับ พชอ. หมด เพราะล้วนเกี่ยวพันกับสุขภาวะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุบัติเหตุ ยาเสพติด สุขภาพ ฯลฯ คิดว่ามาถูกทางแล้ว เพียงจะทำอย่างไรให้เกิดการสานพลังร่วมกัน
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. ซึ่งเป็นองค์กรเลขานุการร่วมของ กขป. กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สปสช. ที่รับผิดชอบเรื่องความเจ็บป่วยของประชาชน แต่ความเจ็บป่วยหลายอย่างนั้นมาจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องพยาธิใบไม้ในตับ ถ้า สปสช. รักษาอย่างเดียว ดูแลเรื่องการผ่าตัด ให้ยา เคมีบำบัด ก็แก้ปัญหาไม่ได้ และปัญหาจะมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ สปสช. ไม่มีทางไปถึงเรื่องอาหารด้วยการรณรงค์ให้คนกินอาหารที่ดี ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจได้ ดังนั้น กขป. จึงเป็นเวทีที่ใช้พลังของส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมแก้ปัญหา ซึ่งยังคงต้องช่วยกันลงแรงต่อไป
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. อีกหนึ่งองค์กรเลขานุการร่วม กขป. กล่าวว่า กขป. เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยจะเสริมการทำงานในพื้นที่ ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำงานในด้านการให้บริการ ซึ่งต้องอาศัยกลไกอย่างเขตสุขภาพเพื่อประชาชนที่มีคณะกรรมการจากตัวแทนจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ระดับเขต เพื่อมาช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุข ในเขตพื้นที่ ฯลฯ ซึ่ง กขป. ได้หนุนเสริมการขับเคลื่อนงานของ สสส. ซึ่งทำเรื่องสังคมสุขภาวะให้มีพื้นที่การทำงานเพิ่ม สามารถนำทรัพยากรหรือประเด็นส่งผ่านกระบวนการนี้เพื่อทำงานร่วมกับพื้นที่ได้มากขึ้น
ในช่วงท้าย นพ.ศุภกิจ กล่าวสรุปว่า การประชุมในวันนี้ทำให้หลายภาคส่วนได้มาเปิดอกคุยกันและทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ในขณะที่ทีมเลขานุการทั้ง 4 ส. 1 ก. คือ สปสช. สสส. สธ. สช. และกรุงเทพมหานคร ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานของ กขป. จะต้องจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อให้พื้นที่นำไปใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา และหาสถานที่ทำงานของ กขป. ที่ชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นอาจไปใช้สถานที่ของศูนย์เขตสุขภาพ สธ. เป็นที่ทำงานได้ ในส่วนงบประมาณที่มีจำกัดมาก อาจต้องมีการชี้แจงกับสำนักงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อของบดำเนินการเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับบทบาทและความคาดหวังในการทำงาน
ทั้งนี้ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เป็นกลไกที่เกิดขึ้นจากมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 2557 ต่อมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการจัดตั้ง กขป. โดยออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม 2559 เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพที่ยึดโยงการทำงานของหน่วยงานและองค์กรทุกภาคส่วนโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน มีทั้งหมด 13 เขตทั่วประเทศ ส่วน คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ผ่านความเห็นชอบของ ครม. ในปี 2560 โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน พชอ. ทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข สปสช. และ สสส.เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สำหรับ สมัชชาสุขภาพจังหวัด นั้น เป็นนวัตกรรมใหม่ในการจัดทำนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม ผลักดันโดย สช. ใช้พื้นที่จังหวัดเป็นขอบเขต เปิดโอกาสให้กลุ่มเครือข่ายทุกภาคส่วนในจังหวัด ทั้งภาคประชาสังคม เอกชน ภาควิชาการ วิชาชีพ ภาคราชการ การเมือง ได้มีส่วนร่วมนำข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดสุขภาวะในจังหวัด
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143