บอร์ดสุขภาพแห่งชาติเดินหน้า ปลุกพลังสังคมสร้างนโยบายสาธารณะ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หนุนกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญาหรือ 4PW มั่นใจสร้างสังคมสุขภาวะในทุกพื้นที่ หลังรับทราบผลความสำเร็จจากพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ๑๗๔ นโยบายที่ได้รับการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
 
   เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖/๒๕๖๐ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
 
   พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เปิดเผยว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้รับทราบผลการดำเนินงานการพัฒนา นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา (Participatory Public Policy Process based on Wisdom: 4PW) ในระดับพื้นที่ ตลอดปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐ ที่สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนงานหลักของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔ ในการเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ในพื้นที่ทั้ง ๗๖ จังหวัด รวมทั้งเขตกรุงเทพมหานคร ๖ โซน รวมทั้งสิ้น ๘๒ พื้นที่
 
   “พื้นที่ที่ขับเคลื่อนสำเร็จ อาทิ การจัดการขยะของตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จ.สตูล มีปัจจัยสำคัญมาจากผู้นำ หากมีความเข้มแข็ง มีความคิดริเริมที่จะทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ และเป็นผู้นำชาวบ้านได้จริง ทั้งผู้นำทุกศาสนาและผู้นำองค์กรในชุมชน จะทำให้คนในชุมชนเข้ามาร่วมมือ ปัญหาต่างๆ ก็จะได้รับการแก้ไข ซึ่งวิถีการทำงานที่ดีนั้น หลายๆ พื้นที่ควรนำไปเป็นตัวอย่างขับเคลื่อนการทำงานที่มีชุมชนบริหารจัดการด้วยตัวเอง”
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป กล่าวว่า การมีส่วนร่วมตามกระบวนการ 4PW เกิดขึ้นได้ในทุกระดับ โดยคนในชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาคมจังหวัด สานพลังความรู้ พลังนโยบาย และพลังทางสังคม พัฒนานโยบายสาธารณะที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมกันกำหนดประเด็นปัญหาของพื้นที่หรือ “จุดคานงัด” และร่วมหารือด้วยฐานความรู้ เพื่อนำไปสู่ทางออกและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้หน่วยงานและองค์กร หรือชุมชนนำไปปฏิบัติเพื่อจัดการปัญหาสุขภาพต่อไป โดยใช้ ๓ เครื่องมือสำคัญตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
 
   ตลอดปี ๒๕๖๐ สช. สนับสนุนเครือข่าย 4PW ระดับพื้นที่ พัฒนาจนเกิดเป็นมติหรือข้อเสนอเชิงนโยบายทั่วประเทศ ๑๙๐ มติ และขับเคลื่อนมติจนเกิดเป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมและรูปธรรมความสำเร็จ ๑๗๔ นโยบาย เช่น พื้นที่ภาคเหนือ ๑๘ จังหวัด มีการเสนอประเด็นต่างๆ จากชุมชนเจ้าของพื้นที่ เช่น การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ การแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน สุขภาวะชาวนา สมัชชาสุขภาวะชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ ฯลฯ และจัดทำแผนที่ทางเดินเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จ เช่นที่จังหวัดชัยนาท ได้ใช้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชนหรือ CHIA มาจัดทำข้อมูลชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่อง การบริหารจัดการน้ำประปาปลอดภัยในชุมชน โดยเฉพาะที่ตำบลนางลือ อำเภอเมือง จนเกิดข้อตกลงการใช้น้ำร่วมกัน ประกาศเป็นเทศบัญญัติ และมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำและสภาพแวดล้อมโดยรัฐร่วมกับชุมชน
 
   ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขับเคลื่อนงานผ่านการสร้างความเข้มแข็งของแกนนำภาคีเครือข่าย ใน ๒๐ จังหวัด จนเกิดผลรูปธรรมของการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพระดับตำบล ๔๓ แห่ง และสามารถผลักดันข้อเสนอจากมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดบรรจุไว้ในแผนงานหรือโครงการของหน่วยงานต่างๆกว่า ๕๐ เรื่อง จนเกิดผลการปฏิบัติจริงหรือเกิดเป็นกิจกรรมในพื้นที่ ๗๓ เรื่อง เช่นที่จังหวัดยโสธร ซึ่งประสบปัญหาสารเคมีตกค้างทั้งผักและผลไม้ พบค่าเกินมาตรฐานสูงถึงร้อยละ ๔๖.๔ ของตัวอย่าง จึงเกิดการผลักดัน ประเด็นระบบอาหารปลอดภัย ผ่านสมัชชาสุขภาพจังหวัด จนมีการประกาศนโยบายระดับจังหวัดให้ยโสธรเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ และเกิดธรรมนูญสุขภาพตำบลโนนเปือย เน้นขับเคลื่อนความปลอดภัยในอาหาร พร้อมเปิดตลาดสีเขียว เชื่อมวัตถุดิบอินทรีย์สู่โรงพยาบาลและร้านอาหาร หรือที่จังหวัดอุดรธานี มีการพัฒนานโยบายสาธารณะ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน จนเกิดความตื่นตัวในการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วน เกิดเป็นวาระของจังหวัดลดจุดเสี่ยงป้องกันอุบัติเหตุ
 
   พื้นที่ ภาคใต้ มีการสร้างความร่วมมือตามกระบวนการ 4PW บูรณาการในการแก้ปัญหาของพื้นที่ เช่น ที่ชุมพร เครือข่ายได้นำมติสมัชชาสุขภาพจังหวัด เรื่อง การปกป้องเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปขับเคลื่อน จนผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นวาระจังหวัด มีการตั้งชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย และบรรจุประเด็นนี้ไว้ในแผนพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ ที่ อ.สวี อ.ท่าตะโก และ อ. ปะทิว การทำงานเกิดผลสำเร็จโดยพบว่า มีคนงดเหล้าครบพรรษา ๑,๒๘๗ คน และงดเหล้าตลอดชีวิต ๑๓๒ คน นอกจากนี้ยังมี นโยบายเรื่องเด็กและเยาวชน ของเทศบาลนครยะลา แผนยุทธศาสตร์จังหวัดเรื่องนาข้าวอินทรีย์ จังหวัดพัทลุง และ นโยบายการลดปัญหาและป้องกันไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดสตูลด้วย
 
   ส่วนที่ ภาคกลาง ได้พัฒนาจนเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ๓๑ เรื่อง และขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกับเครือข่าย รวม ๗๒ ประเด็น เช่น มติสมัชชาสุขภาพจังหวัดนนทบุรี เรื่องลดละเลิกการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร ประกาศเป็นนโยบายจังหวัด Nonthaburi Say NO To Foam, มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นสุขภาวะคลองเจดีย์บูชา: การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายชุมชนชาวคลอง บรรจุอยู่ในวาระของจังหวัดนครปฐม ๔.๐ และเทศบาลพนมสารคาม นำมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่องการจัดการขยะทั่วไปในชุมชนไปขับเคลื่อนจนประกาศเป็นเทศบาลน่าอยู่ การจัดการขยะครบวงจร
 
   ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้ง ๖ โซน อยู่ระหว่างการผนึกกำลังเครือข่ายในเขตต่างๆ ของ กทม. และสำรวจประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อน พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบายสาธารณะ เช่น การจัดทำข้อมูลชุมชนป้อมมหากาฬ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฟื้นฟูและพัฒนาย่านชุมชนเก่า และร่วมกับเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ