เสนอ ครม. ขับเคลื่อน 2 มติสมัชชาสุขภาพฯ ‘แก้เชื้อดื้อยา-ลดบริโภคเกลือ’ สู่วาระแห่งชาติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ชูธงขับเคลื่อน ๒ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และ วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ เสนอ ครม. ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ รวมพลังทุกหน่วยงานและภาคีเครือข่ายแก้ปัญหาแบบไร้รอยต่อ พร้อมผลักดันสู่เวทีโลก ประสานกลุ่มประเทศจี ๗๗ สหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก
 
   การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ ๓/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี มี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก
 
   ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.กระทรวงสาธารณสุข และประธาน คมส. เปิดเผยว่า ที่ประชุม คมส. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการยกระดับความสำคัญของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ จำนวน ๒ ประเด็น ได้แก่ มติ “นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs)” และ มติ “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนไทยอย่างมาก ต้องมีกลไกระดับชาติขึ้นมารับผิดชอบบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
 
   สำหรับประเด็น วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ คมส.เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการจัดการแบคทีเรียดื้อยาของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี นอกจากนั้นยังได้มีการประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำประเด็นเข้าสู่ความร่วมมือในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งในกลุ่มประเทศจี ๗๗ องค์การสหประชาชาติ (UN) องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นต้น ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีนโยบายให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว
 
   “ขณะนี้นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงปัญหานี้แล้ว โดยเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนและผู้ป่วย ซึ่งปัญหานี้สะสมเรื้อรังมานานนับ ๑๐ ปี จึงอาจจะแก้ไม่สำเร็จได้ภายใน ๑ ปี แต่อย่างน้อยได้มีการเริ่มต้นแล้ว และเห็นภาพของปัญหาที่ชัดขึ้น การวางแผนจัดการปัญหาก็จะไปในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น”
 
   ในประเด็น นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) คมส. เห็นชอบให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการจัดตั้งกลไกการดำเนินงานระดับชาติ พร้อมจัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในทุกระดับ
 
   นอกจากนี้ คมส. ยังรับทราบถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข ที่มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ การใช้ยาไม่ถูกต้อง อาทิ ยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ, การกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย, นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับคนไทย และการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น) เป็นต้น
 
   รวมทั้งความก้าวหน้าการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน ประกอบด้วย กลุ่มมติเกษตรและอาหารปลอดภัย, เด็กกับสื่อ, การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ เป็นต้น
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ