ผนึกกำลังเตรียมข้อมูลวิชาการไทย-เทศ รองรับเจรจาการค้า หวั่นกระทบสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เวทีประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ระดมความเห็นท่าทีไทยในการเจรจาการค้าโลก พร้อมเดินเครื่องเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ในประเทศเพื่อรองรับการใช้ความยืดหยุ่นของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า
 
   การประชุมวิชาการ “การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ” (International Trade and Health Conference ๒๐๑๕) ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๗-๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ โรงแรม สุโกศล กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมกว่า ๑๕๐ คน ทั้งภาควิชาการ รัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานการณ์การเจรจาและการค้าในเวทีโลกที่เกี่ยวกับสุขภาพ พร้อมเป็นเวทีรับฟังข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปประกอบท่าทีเจรจาการค้าต่อไป
 
   ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (National Commission on International Trade and Health Studies: NCITHS) กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง NCITHS และแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ (International Trade and Health: ITH) ซึ่งเป็นแผนงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น
 
   “นับเป็นเวทีที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบสุขภาพโดยใช้ข้อมูลทางวิชาการเป็นฐาน เพื่อจัดทำข้อสรุปและข้อเสนอแนะทางนโยบายในการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการเจรจาการค้าอย่างเท่าทันและมีเอกภาพ มีข้อมูลวิชาการสนับสนุนเพื่อป้องกันและเตรียมการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพ ข้อเสนอแนะทางนโยบายเหล่านี้จะเข้าสู่การพิจารณาของNCITHS และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ก่อนจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่นเดียวกับข้อเสนอแนะจากเวทีครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๗”
 
   นพ.อำนวย กาจีนะ รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื้อหาการประชุมปีนี้มีความต่อเนื่องจากการประชุมครั้งแรก ทั้งในด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ แต่เพิ่มประเด็นกรณีศึกษาประสบการณ์ของไทยจากการใช้สิทธิบัตรโดยรัฐต่อยา ๗ รายการ ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๐ ทั้งยาสำหรับโรคเอดส์ หัวใจ และมะเร็ง ซึ่งถือเป็นมาตรการหนึ่งตามความยืดหยุ่นของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPS) โดยได้มีการศึกษาทบทวนในประเด็นต่างๆ ทั้งในด้านผลการดำเนินงาน ประโยชน์ในการเพิ่มการเข้าถึงยา การลดค่าใช้จ่ายและประหยัดงบประมาณในระบบประกันสุขภาพ ความคุ้มค่า และปัญหาอุปสรรค นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาเรื่องการบังคับใช้สิทธิเป็นครั้งแรกในยาต้านมะเร็งของประเทศอินเดีย เมื่อปี ๒๕๕๕ และการให้สิทธิบัตรโดยสมัครใจของ Medicines Patent Pool ซึ่งมุ่งหวังให้เพิ่มการเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนา โดยเบื้องต้นได้เน้นที่ยาต้านไวรัสเอดส์ในรูปแบบยารวมเม็ด และยาสำหรับเด็ก โดยการประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรในแต่ละรูปแบบมาแลกเปลี่ยนบทเรียน ผลการศึกษาและข้อมูลต่อผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ จะมีการนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาพิจารณาเพื่อทบทวนการดำเนินงานเรื่องการใช้สิทธิบัตรโดยรัฐของไทยต่อไป
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ