พลังการมีส่วนร่วม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สวัสดีครับ... วิกฤตเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศ และความตื่นตัวข้อกำหนดอนาคตและแก้วิกฤตประเทศของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนคนรุ่นใหม่ สอดคล้องกับธีมงานหรือประเด็นหลักของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ ที่กำหนดไว้ว่า “พลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพ” ผมจึงอยากชวนเพื่อนภาคีเครือข่ายคุยเรื่องความเป็นพลเมืองตื่นรู้ และความสำคัญที่ประเทศต้องมีและทุกภาคส่วนต้องสนับสนุนให้เกิดพลเมืองตื่นรู้ให้เต็มพื้นที่
 
   พลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) คือ พลเมืองของประเทศที่มีความตระหนักรู้ กระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบในภารกิจของประเทศร่วมกัน เป็นพลังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดเป็นกระแสขับเคลื่อนสังคมมาตลอดทั้งในอดีตและชัดเจนมากในปัจจุบัน
 
   สังคมไทยที่ผ่านมา คุ้นชินกันการใช้อำนาจสั่งการบังคับบัญชาแนวดิ่งหรือที่เรียกว่า อำนาจแข็ง (Hard power) หวังทำทุกเรื่องให้สำเร็จโดยรัฐ โดยระบบราชการ จึงมักตามมาด้วยความขัดแย้งและไม่ยั่งยืน เพราะสังคมปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากขึ้น การดำเนินการโดยรัฐเพียงลำพังจึงไม่เพียงพอและได้ผลกับภารกิจบางอย่าง ไม่ได้ผลกับภารกิจอีกหลายอย่าง การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาสังคมจึงต้องมีแนวทางใหม่ๆ เข้ามาช่วยเสริมมากขึ้น การขับเคลื่อนต้องใช้กระบวนการทำงานร่วมกัน คือ ใช้พลังการมีส่วนร่วมหรือที่เรียกว่า อำนาจอ่อน (Soft power) ของเครือข่ายประชาชนเข้ามาหนุนเสริมการทำงานภาครัฐ จึงจะมีพลังมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้คือการรวมตัวกันของประชาชนในหลากหลายชุมชนพื้นที่ทั่วประเทศ ที่ลุกขึ้นมาเรียนรู้และร่วมกันสู้ภัยโควิด-19 เปลี่ยนจากประชาชนที่ตื่นกลัวเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ และรวมตัวกันออกมาตรการหรือข้อตกลงร่วมของชุมชน หรือธรรมนูญของประชาชนสู้ภัยโควิด-19 ดำเนินการเสริมกับมาตรการต่างๆ ของรัฐ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในการควบคุมการระบาดของโรคร้ายนี้ได้
 
   ความเป็นพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตของประเทศ บนความแตกต่างของหลายความคิด หลายประสบการณ์ และหลายผลประโยชน์ของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีจุดมุ่งหมายใหญ่กว่าความแตกต่างที่มีอยู่ เป็นจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ๋ให้ดีขึ้น ยกระดับสังคมให้มีความเป็นธรรมเท่าเทียมกันมากขึ้น และยกระดับประเทศให้มีประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติจากเครื่องมือของรัฐเหมือนกัน ซึ่งตรงกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้รัฐสมาชิกมุ่งมั่นสร้างความเป็นประชาธิปไตย สร้างความเป็นธรรมในสังคม สร้างความเข้มแข็งและโอกาสด้านต่างๆ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่สังคมสุขภาวะ
 
   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ “พลังพลเมืองตื่นรู้ สู้วิกฤตสุขภาพ” ที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ ๑๖ - ๑๗ ธันวาคมนี้ และการจัดสัปดาห์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติช่วงต้นเดือนธันวาคมที่มีกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร และสมัชชาสุขภาพของทุกจังหวัดตลอดเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๖๓ นี้ เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศให้เป็นเวทีระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และหาฉันทมติทางออกร่วมกันอย่างสันติ เพื่อให้พลเมืองที่ตื่นรู้ ได้ร่วมกันกำหนดอนาคตของตนเองและพาประเทศให้พ้นวิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่นี้ครับ

ด้วยรักและศรัทธาครับ...นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา