วิถีเพศภาวะ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   นิตยสารสานพลัง ฉบับนี้ยังคงอยู่ในบรรยายกาศของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๒ ภายใต้ธีมงาน “ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง...สู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะ” ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ ๑๘ – ๒๐ ธันวาคม นี้ ซึ่งมี ๔ ระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกว่าสามพันคนจากผู้แทนทุกภาคส่วนทั่วประเทศ และที่ Hot Hit มากที่สุดคือระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องวิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว (Gender Approach: Family Health Empowerment) ที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยและดูห่างไกลจากคนส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างสุขทั้งต่อปัจเจกบุคคล ครอบครัว และสังคม เป็นเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนี้
 
   จากเอกสารร่างมติของระเบียบวาระวิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว ที่คณะอนุกรรมการวิชาการได้ยกร่างจากข้อเท็จจริงทางวิชาการและข้อมูลที่ประจักษ์ ผ่านความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้สรุปเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไว้อย่างชัดเจนว่า “การใช้กรอบแนวคิด และการดำเนินการที่เรียกว่า วิถีเพศภาวะ ไปเสริมพลังครอบครัว โดยทำให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ ด้วยการใช้กระบวนการรื้อแนวคิดที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมทางเพศ สร้างแนวคิดและวิธีการใหม่ที่ใช้พลังความเสมอภาคและเป็นธรรมทางเพศของทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และผู้หลากหลายทางเพศ เพื่อให้ครอบครัวมีสุขภาวะ ความมั่นคง และสงบสุข” และในเอกสารร่างมติยังสรุปที่มาของปัญหาว่า
 
   เริ่มต้นจากครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเพศภาวะ ความแตกต่างของประเภทครอบครัว ชาติพันธุ์ ศาสนา และกลุ่มช่วงอายุของสมาชิกครอบครัว ส่งผลต่อแนวคิด วิธีการเลี้ยงดูสมาชิกและความสัมพันธ์ในครอบครัว นำมาสู่การใช้วิถีเพศภาวะเป็นกรอบคิดและหลักการดำเนินงานขับเคลื่อนสุขภาวะครอบครัว
 
   และจากปัจจัยต่างๆ ของสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เพศภาวะของสมาชิกในครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังขาดความเสมอภาค (equity) และเป็นธรรม (fairness) ส่งผลต่อสุขภาวะของสมาชิกครอบครัว
 
   เอกสารร่างมติดังกล่าวได้เสนอทางออกไว้อย่างน่าสนใจว่า การทำให้สังคมตระหนักรู้ว่าความเสมอภาค และความเป็นธรรมทางเพศ เป็นภารกิจของทุกภาคส่วนที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง การทำให้ครอบครัวใช้วิถีเพศภาวะบ่มเพาะสมาชิกครอบครัวให้มีความยืดหยุ่นในบทบาท และให้คุณค่าต่อทุกเพศอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมได้ ด้วยการสร้างความตระหนักรู้โดยใช้กระบวนการใหม่นั้น ครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง หน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินงานต่างๆ อย่างมีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ โดยมุ่งให้เกิดสุขภาวะครอบครัว ลดความเหลื่อมล้ำหรือขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคอันเนื่องมาจากเพศภาวะ ส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม จึงจะหนุนเสริมพลังครอบครัวให้มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
 
   เป็นไงบ้างครับ แค่เริ่มต้นของเรื่องวิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว (Gender Approach: Family Health Empowerment) ก็น่าสนใจแล้ว ส่วนรายละเอียดการถกแถลง การให้ข้อมูลในมุมมองต่างๆ และผลสรุปมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในระเบียบวาระนี้จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามจากการเข้าร่วมเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๒ นี้โดยตรง หรือติดตามจากช่องทางสื่อสารต่างๆ ของ สช. และภาคีเครือข่ายซึ่งจะมีการสรุปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง...ขอบคุณและพบกันใหม่ในฉบับต่อไปครับ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา