ชวนคิด ชวนคุย สุขภาพทางปัญญา | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สวัสดีค่ะ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ชวนคิด ชวนคุย มิติสุขภาพทางปัญญา” ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและต้องทำความเข้าใจที่ลึกซึ้ง สุขภาพทางปัญญา หรือ Spiritual Health เป็นมิติหนึ่งของสุขภาพตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๕๐ และเป็นเรื่องหนึ่งภายใต้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๙ ซึ่งได้หมายความถึง ภาวะของมนุษย์ที่มีความรู้ทั่ว ความรู้เท่าทัน และความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดี ความชั่ว ความมีประโยชน์ และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยมีหลักการสำคัญว่า
 
   1.สุขภาพทางปัญญาเป็นฐานรากของสุขภาพองค์รวม การปฏิบัติเพื่อสุขภาพทางปัญญานำไปสู่ภาวะของมนุษย์ที่มีความรู้ ทั้งความรู้เท่าทันและความเข้าใจที่แยกแยะได้ในเหตุผลแห่งความดีและความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่การมีจิตใจที่ดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
 
   2.สุขภาพทางปัญญาสัมพันธ์กับสุขภาพทางกาย ทางจิต และทางสังคม มีทั้งมิติแนวดิ่ง คือ การเชื่อมโยงมนุษย์กับศรัทธาความเชื่อ อุดมคติ หรือคุณค่าสูงสุดที่ตนยึดถือ และมิติแนวราบ คือการเชื่อมโยงมนุษย์กับสรรพสิ่งรอบตัว ดังนั้น การบรรลุซึ่งสุขภาพทางปัญญาจำเป็นต้องมีความสมดุลกันทั้งในมิติแนวดิ่งและแนวราบ
 
   ในทางหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า สุขภาพทางปัญญา เป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเราทุกคน เป็นการค้นหาพลังชีวิตของแต่ละคนให้เจอ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะพลังชีวิตนี้จะช่วยให้คนๆ นั้น สามารถก้าวพ้นอุปสรรค สามารถดูแลบริหารจัดการงานที่ทำและชีวิตส่วนตัวให้ดีได้ โดยมีความเข้าใจ รู้เท่าทัน เห็นคุณค่าและความสำคัญของเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเป้าหมายสำคัญคือ สามารถเรียนรู้ความเป็นจริงและใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่ประสบในชีวิตไม่ว่าจะทุกข์หรือสุขได้ ซึ่งการมีสุขภาพทางปัญญานั้น จะช่วยให้เราและคนรอบข้างอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
 
   ในการประชุมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ทั้งพระสงฆ์ เครือข่ายพื้นที่ของ สช. ตัวแทนของชนชาติพันธุ์ อดีตผู้ป่วยมะเร็ง นักดนตรี ไปจนถึงอดีตนักโทษต้องคดี ซึ่งทุกคนได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนในเรื่องของการปฏิบัติที่ก่อผลที่ดีที่สุด (Best practice) แรงบันดาลใจ ปัจจัยของความสำเร็จ ข้อจำกัดที่พบจากการทำงานและประสบการณ์ในชีวิต มีการระดมสมองในเรื่อง ยุทธศาสตร์ - เป้าหมายร่วม ภายใต้ ๙ หัวข้อหลัก ๙ ฐาน ซึ่งประกอบด้วยฐานธรรมชาติ การเคลื่อนไหวร่างกาย ความคิดสร้างสรรค์/ศิลปะ งานบันดาลใจ จิตอาสา ความสัมพันธ์ การเรียนรู้ ภาวนา และความเป็นธรรมทางสังคม ทั้งหมดเป็นการดึงเอาสิ่งที่แต่ละคนคิดและทำออกมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนให้คนอื่นได้สัมผัสและเข้าถึง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและบทเรียนต่างๆ มากมายที่จะนำไปขยายผลต่อได้
 
   ในทางพุทธศาสนานั้น สุขภาวะทางปัญญา หมายถึง การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต สามารถวางจิต วางใจได้อย่างถูกต้อง คิดดี คิดเป็นและเห็นตรง ช่วยให้ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข ทั้งกายและใจ สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ช่วยให้จิตเป็นอิสระท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรต่างๆ โดยพุทธศาสนามองว่า ปัญญานั้นเป็นพื้นฐานของความสุขทั้งทางกาย สังคม และจิต
 
   สุขภาวะทางปัญญาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรเรียนรู้ให้รู้จักและสัมผัสให้ได้ เพื่อความสุขของตัวเราและสังคม
 
   อีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญและเรียนย้ำ คือ การสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2562 ในยุค 4.0 ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นครั้งแรก โดยมีกำหนดการตามแผนภาพดังนี้ ขอเรียนเชิญท่านที่มีคุณสมบัติและสนใจสมัคร ติดตามรายละเอียดทุกขั้นตอนได้ที่เว็บไซต์การสรรหา
https;//nhc.nationalhealth.or.th เพื่อมาร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะไปด้วยกันนะคะ

 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ