- 78 views
นนทบุรี-ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ประจำปี 2554 ได้มีการพิจารณาร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งหนึ่งในหกร่างข้อเสนอฯ เป็นเรื่อง “การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม” ที่เสนอให้มีข้อตกลงร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการสั่งระงับและเพิ่มโทษในส่วนของการโฆษณา ที่ออกอากาศในสื่อโทรทัศน์ดาวเทียม วิทยุท้องถิ่น และเว็บไซต์ที่โฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน
แหล่งข่าวจาก อย. เจ้าหน้าที่ในคณะทำงานวิชาการพิจารณาร่างข้อเสนอดังกล่าวเปิดเผยว่า โฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมาย อาทิ อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่มาตามเสียงวิทยุท้องถิ่น แทรกในรายการเคเบิ้ลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียมนั้น เข้าขั้นน่าวิตก บางสถานีที่ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ปรากฏว่าใช้เวลาเกินกว่าครึ่งเพื่อโฆษณายา อาหาร และผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าว หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้โดยปราศจากมาตรการควบคุมใด ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง ยิ่งขณะนี้ จำนวนครัวเรือนทั่วประเทศที่เข้าถึงสื่อเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 8-9 ล้านครัวเรือนแล้ว ทั้งนี้ ยังไม่นับช่องทางสื่อสารผ่านเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยโฆษณายาและอาหารหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ
ก่อนหน้านี้ กรณีโด่งดังที่ทุกคนยังคงไม่ลืมคือน้ำหมักชีวภาพของ “ป้าเช็ง” ที่ลักลอบโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านเคเบิ้ลทีวี กระทั่งทำให้หลายคนหลงเชื่อคำโฆษณาสรรพคุณต่าง ๆ และตัดสินใจบริโภคสินค้า ซึ่งก่อความเดือดร้อนและความสูญเสียตามมาในที่สุด
จากสถิติในรอบสองปีนี้ อย. ได้จับกุมและดำเนินคดีทำนองนี้ไปแล้วกว่า 1,145 ราย ยึดของกลางได้กว่า 3,248 รายการ และในจำนวนนี้มีคดีที่ยึดของกลางมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ถึง 15 ครั้ง ซึ่งส่วนมากมักเป็น “อาหารเสริม” ที่แม้จะขึ้นทะเบียนถูกต้อง แต่กลับโฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริง โดยอ้างว่าเป็นยารักษาโรคได้ พร้อมผ่านการรับรองแล้วจาก อย. ตัวอย่างกลุ่มอาหารเหล่านี้ เช่น อาหารเสริมกลุ่มสาหร่ายเกลียวทอง กลุ่มกาแฟผสมวิตามิน และสารสกัดต่าง ๆ อีกจำพวกเป็นยาและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. แต่แอบโฆษณาเพื่อการค้าแล้ว
“เทคโนโลยีการสื่อสารวันนี้ ทำให้โลกมีช่องทางการเผยแพร่สื่อโฆษณายา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากกว่าแต่ก่อน และก็ทำได้เร็วและง่าย เข้าถึงทุกซอกมุมทุกพื้นที่ รุนแรงกว่าการขายตรงเสียอีก รูปแบบการเผยแพร่แบบนี้ ยอมรับเลยว่าเกินกำลังของ อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)” แหล่งข่าวจาก อย. ระบุ พร้อมกล่าวถึงแนวทางความร่วมมือระหว่าง อย. กับ กสทช. ในการรับมือกับภัยที่มากับโลกดิจิตอล “ที่ผ่านมา อย. ใช้แต่ไม้แข็ง อ้างโทษทางอาญา ใช้เพียงมาตรการทางกฎหมายจัดการกับปัญหา ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ปัญหาไม่ได้ลดลง หรือแม้เราจะประกาศห้ามโฆษณาเท่าใด แต่เมื่อช่องทางการสื่อสารมี ผู้บริโภคเข้าถึงได้ไม่ยาก ปัญหาก็ยิ่งไม่จบ ทาง อย. จึงวางแนวทางใหม่โดยขอเพิ่มโทษ พร้อม ๆ กับการขอความร่วมมือจาก กสทช. ช่วยควบคุมการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ”
แนวทางการจัดการกับปัญหาข้างต้นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ อย. เนื่องจากบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมา ลำพังหน่วยงานเดียวย่อมไม่อาจบรรเทาหรือกำจัดปัญหาของโลกยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำต้องผนึกกำลังกับหน่วยงานที่ชำนาญการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารร่วมจัดการกับปัญหา ด้านบทบาทของ กสทช. เองก็ถือเป็นการใช้ศักยภาพของหน่วยงานหนุนเสริมภารกิจสาธารณะ โดยอาจเริ่มจากการตรวจสอบการกระทำความผิดตามเกณฑ์โฆษณายาและอาหารของพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งถ้าพิสูจน์ว่ามีมูลความผิดจริง สื่อช่องนั้น ๆ ก็จะถูกกำหนดโทษตามเกณฑ์ที่ได้ตกลงร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่จะนำเข้าเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปีนี้ (ครั้งที่ 4) มีทั้งสิ้น 6 ร่างข้อเสนอฯ ซึ่งนอกจากปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียมแล้ว ยังมีการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีทุกภาคส่วน กรณีการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ การจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น) และสุดท้าย ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการเปิดเวทีรับฟังความเห็นของเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วนทั่วประเทศต่อร่างแรกของข้อเสนอฯ ทั้งหกรายการ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการสมัชชาสุขภาพที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้วยตนเอง
เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140