ศาลปกครองยกฟ้องแล้ว | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   มาตรา 12 พรบ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เขียนรับรองสิทธิของบุคคลในการปฏิเสธการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อจะได้ตายอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ถูกยื้อหรือขัดขวางการตายด้วยการรักษาหรือเครื่องไม้เครื่องมือที่เกินจำเป็น โดยให้ทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า (Living Will)
 
   กฎหมายกำหนดให้ออกกฎกระทรวงรับรองการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าว ซึ่ง สช. ได้จัดทำกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนารมณ์เสร็จเรียบร้อย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 เป็นต้นมา

 
   แต่มีแพทย์ 3 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าว โดยอ้างว่าขั้นตอนการจัดทำไม่ถูกต้อง และเนื้อหาของกฎกระทรวงดังกล่าวก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพ
 
   ศาลปกครองสูงสุดใช้เวลาพิจารณานานพอสมควร จนกระทั่งวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ศาลจึงมี คำพิพากษายกฟ้อง ด้วยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า
 
   กระบวนการออกกฎกระทรวงฯ ชอบด้วยกฎหมาย มีกระบวนการจัดทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และมีกระบวนการที่ถูกต้องครบถ้วน
 
   เนื้อหาสาระของกฎกระทรวงก็ถูกต้อง การเขียนหนังสือและเจตนาปฏิเสธการรักษาพยาบาล เป็นสิทธิของผู้ป่วย แพทย์ต้องเคารพการตัดสินใจดังกล่าว เรื่องนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ใช่เรื่องสิทธิการเลือกที่จะตาย แพทย์ไม่มีสิทธิให้การรักษาหรือให้ยาที่จะทำให้ผู้ป่วยตาย (Mercy killing)
 
   เมื่อแพทย์พิเคราะห์โรคแล้วเห็นว่าผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะตายแล้ว และผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ขอรับการรักษาที่ยืดการตายหรือขัดขวางไม่ให้ตายตามธรรมชาติ แพทย์มีหน้าที่ดูแลรักษาแบบประคับประคองเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน กฎกระทรวงไม่ได้ให้แพทย์ทอดทิ้งผู้ป่วย
 
   กฎกระทรวงอธิบายความและกำหนดขั้นตอนและวิธีในการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ และวางแนวทางปฏิบัติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดการงานด้านสุขภาพของประเทศ มิใช่การก้าวล่วงไปกำหนดมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพแต่ประการใด
 
   ก็เป็นอันว่าทุกอย่างกระจ่างแจ้ง กฎกระทรวงฯ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติชอบด้วยกฎหมาย
 
   จากนี้ไป ประชาชนที่ประสงค์จะใช้สิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้าเพื่อปฏิเสธการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ทำได้อย่างสบายใจ ซึ่งในกฎกระทรวงมีตัวอย่างไว้ให้ดูด้วย สถานพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขก็สบายใจ เพราะมีหลักเกณฑ์และมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่ในกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวชัดเจนแล้วครับ
 

รูปภาพ