ประชุมวิชชาการ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากในเรื่อง การปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาประมาณ ๒ ทศวรรษแล้ว
 
   มีการขยายความเรื่องสุขภาพว่าเป็นเรื่องสุขภาวะ ๔ มิติ ทั้งทางกาย ทางใจ ทางจิตวิญญาณ และทางสังคม ระบบสุขภาพมีความหมายกว้างกว่าระบบทางการแพทย์และสาธารณสุขเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นเจ้าของเรื่องสุขภาพ และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพในทุกมิติอย่างกว้างขวางในทิศทาง “สร้างนำซ่อม”
 
   มีการปฏิรูประบบและโครงสร้างต่างๆหลายเรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การตรา พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ความนิยามเรื่องสุขภาพและระบบสุขภาพอย่างกว้าง กำหนดให้มีกลไก “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมาการมาจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคสังคม ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนานโยบายและข้อเสนอแนะด้านสุขภาพ สนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วม โดยกำหนดให้มีเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมหลายเครื่องมือ เน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานด้านสุขภาพร่วมกันตามแนวทางที่เรียกว่า “สุขภาพโดยคนทั้งมวล เพื่อคนทั้งมวล”
 
   การปฏิรูประบบสุขภาพจึงไม่ใช่แค่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในระบบในส่วนงานทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นการปฏิรูปที่กว้างไปเชื่อมโยงกับการปฏิรูปชีวิตและสังคมโดยแนวทางการทำงานเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงกลายเป็นเครื่องมือปฏิรูปประชาธิปไตยในสังคมไปโดยปริยายด้วย
 
   ถึงวันนี้ การทำงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติอย่างเป็นทางการ ย่างเข้าปีที่ ๙ แล้ว โดยมีการทำงานก่อนมีกฎหมายฉบับนี้มาประมาณ ๗-๘ปี รวมกันก็เกือบ ๒ ทศวรรษแล้ว เกิดบทเรียนประสบการณ์และองค์ความรู้จากการปฏิบัติขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยคนจำนวนมาก
 
   จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมวิชชาการ“ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย” ขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ที่เกิดจากการทำงานที่ผ่านมา เพื่อต่อยอดการพัฒนาทางปัญญาและวิชาการ
 
   คณะกรรมการจัดงานจึงใช้คำว่า “ประชุมวิชชาการ” เพื่อต้องการเน้นย้ำว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการปฏิรูประบบประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กันนั้น นอกจากเกิดความรู้หรือวิชาการใหม่ๆ แล้ว การดำเนินงานต่างๆนั้น ยังเกิดปัญญาไปพร้อมๆ กันด้วย
 
   งานนี้ จึงถือว่าเป็นการจัดการความรู้และปัญญาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติร่วมกัน (Interactive Learning Through Action) นั่นเอง
 

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา