หลังจากเตรียมความพร้อมมาตลอด 1 ปีเต็ม บนทางแพร่งของสถานการณ์โควิด-19 ในที่สุดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ก็เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ท่ามกลางความแปลกใหม่ชนิดที่เรียกได้ว่า “พลิกโฉม” การจัดงานไปโดยสิ้นเชิง
งานสมัชชาสุขภาพฯ ปีนี้ จัดขึ้น ณ ทีโอที สำนักงานใหญ่ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ในลักษณะ “ไฮบริด” รองรับทั้งผู้ที่เดินทางมาเข้าร่วมงานแบบ on-site และเชื่อมต่อสัญญาณภาพไปยังภาคีเครือข่ายทุกจังหวัดด้วยช่องทาง online รวมแล้วกว่า 2,000 ชีวิต
ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาระเบียบวาระอย่างเป็นทางการ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ปี 2563-2564 ได้เชิญชวนผู้เข้าร่วมงานยืนสงบนิ่ง เพื่อไว้อาลัยให้กับ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.กระทรวงสาธารณสุข ผู้ซึ่งสร้างคุณูปการมากมายให้แก่วงการสุขภาพ และเป็นผู้ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ด้วย
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 ที่มีความแตกต่างไปจากอดีต พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญแก่ทุกความคิดเห็นของทุกภาคีเครือข่าย ที่จะร่วมกันถกแถลงในการพิจารณาระเบียบวาระ อันประกอบด้วย 1. ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต 2. การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกรณีโรคระบาดใหญ่
ถัดจากนั้น นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ฉายภาพถึงเส้นทางของมติสมัชชาสุขภาพฯ ซึ่งหลังจากได้รับฉันทมติในที่ประชุม ก็จะถูกเสนอต่อไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในการสร้างสังคมสุขภาวะต่อไป
ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาระเบียบวาระแรก “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” โดย นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารและดำเนินการประชุม คณะที่ 1 ได้อธิบายถึงความเป็นมาของร่างมติ ตลอดจนขั้นตอนการพัฒนาข้อเสนอที่ผ่านการรับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจนถึงวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในวันนี้
“เราจะเดินไปด้วยกันบนความเป็นกัลยาณมิตร รับฟังซึ่งกันและกัน โดยที่ผ่านมาเราได้เปิดให้ภาคีส่งความคิดเห็นมาก่อนแล้ว ในวันนี้จึงจะเป็นการหาฉันทมติเพื่อปรับเอกสารครั้งสุดท้าย” นางอรพรรณ ระบุ
ตลอดระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมงของการถกแถลง ภาคีเครือข่ายทั้ง on-site และ online ต่างแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ช่วยกันปรับแก้ไขถ้อยคำเพื่อให้เกิดความถูกต้อง ครอบคลุม และครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีการเสนอเพิ่มรายชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับร่างข้อมติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อการขับเคลื่อนมติอย่างแท้จริง
ประชุมได้ร่วมกันทำความชัดเจนต่อข้อเสนอ ด้วยการแยกข้อเสนอเรื่องความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต ออกจากข้อเสนอเรื่องมั่นคงทางอาหารในภาวะปกติ เช่น ประเด็นเรื่องความปลอดภัย สารเคมี หรือการผูกขาดพันธุกรรม ซึ่งอาจเป็นข้อเสนอในระยะปกติ แตกต่างจากช่วงภาวะวิกฤตที่ต้องเน้นไปยังระบบการกระจายและการเข้าถึงอาหารมากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีการหารือที่ครอบคลุมไปยังประเด็นการใช้ประโยชน์ที่ดิน ฐานทรัพยากร ไปจนถึงปัจจัยการผลิตในด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่าจะใช้เวลา 5 ปี ในการดำเนินงาน
ที่สำคัญก็คือ ที่ประชุมได้แสดงเจตนารมณ์ผลักดันหลักการและสาระสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารเข้าไปบรรจุอยู่ไว้ในรัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดของประเทศด้วย
การประชุมเป็นไปอย่างจริงจังเต็มเม็ดเต็มหน่วยในทุกๆ นาที ก่อนที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ จะเห็นชอบข้อเสนอร่วมกันเป็นฉันทมติโดยไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่รายเดียวในเวลาประมาณ 14.00 น.
ถัดจากนั้น ต่อเนื่องด้วยการพิจารณาระเบียบวาระ “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกรณีโรคระบาดใหญ่” ซึ่งมี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร เป็นประธานคณะอนุกรรมการบริหารและดำเนินการประชุม คณะที่ 2 โดยระเบียบวาระนี้ก็ได้รับฉันทมติจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ด้วยเช่นกัน
ระเบียบวาระนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ให้เห็นถึงความซับซ้อนที่สัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกันระหว่างนโยบายสาธารณะกับการบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นพลังให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีได้
ฉะนั้น หัวใจสำคัญของระเบียบวาระที่สองนี้ จึงเป็นเรื่องของการบูรณาการ การผสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อสนองตอบต่อวิกฤตทางสุขภาพไปด้วยกัน
นอกเหนือไปจากการปรับแก้ถ้อยคำ และการหารือเพิ่มเติมถึงบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเหมาะสมที่จะเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนมติให้บรรลุผลแล้ว ที่ประชุมยังแสดงความคิดเห็นและมีข้อเสนอถึงมาตรการเตรียมความพร้อมรับมืออนาคตอย่างกว้างขวาง
ไม่ว่าจะเป็น การจัดสรรทรัพยากรเพื่อดำเนินการสอบสวนและชันสูตรโรค การกระจายห้องปฏิบัติการที่ครอบคลุมลงไปในทุกจังหวัด การควบคุมการแพร่ระบาด ตลอดจนการลดผลกระทบในด้านต่างๆ ด้วยการมีแผนเผชิญเหตุ และซักซ้อมแผนเหล่านั้น ฯลฯ
การพิจารณาระเบียบวาระที่ 2 นี้ เสร็จสิ้นประมาณ 16.30 น. ด้วยการ “เคาะค้อน” ของประธานอนุกรรมการฯ อันเป็นสัญลักษณ์ของการเห็นพ้องร่วมกันต่อข้อเสนอโดยปราศจากผู้คัดค้าน
งานสมัชชาสุขภาพฯ ในวันแรก จึงจบลงด้วยการบรรลุผลตามเป้าหมายของ คจ.สช. ท่ามกลางความสนใจของผู้เข้าร่วม โดยทุกคนจะมาพร้อมกันอีกครั้งในวันที่ 17 ธันวาคม 2563 เพื่อร่วมกันรับรองมติทั้งหมด ควบคู่ไปกับการติดตามไฮไลท์ที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของกระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ ในยุค New Normal อย่างแท้จริง
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147
- 45 views