สช. ลุยสร้างความเท่าเทียม ‘คนเปราะบาง’ ผุดแผนปฏิบัติการปี 64 เน้น ‘สิทธิสุขภาพ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. ระดมภาคีร่วมกระบวนการ “Think Tank” หารือสนับสนุนการดำเนินงานมาตรา 6 พ.ร.บ.สุขภาพฯ ขับเคลื่อนสิทธิ “กลุ่มเปราะบาง” บรรจุลงแผนงานปี 2564 เดินหน้าสร้างความเท่าเทียมในสังคม
 
   แม้ว่าเป้าหมายใหญ่เรื่องเกี่ยวกับ “สิทธิทางสุขภาพ” คือ การให้ความคุ้มครองผู้คนทุกภาคส่วนเพื่อให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้อย่างเท่าเทียม แต่ในความเป็นจริง ยังมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับ “ข้อจำกัด” จนไม่สามารถเข้าถึงการมีสุขภาวะที่ดีได้ ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ สัญชาติ การศึกษา เศรษฐกิจ เพศสภาพ ศาสนา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อจำกัดที่กีดกันคนจำนวนหนึ่งให้หลุดออกไปจากระบบสุขภาพและสวัสดิการรัฐ
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยความในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้บัญญัติถึงสิทธิความคุ้มครองด้านสุขภาพของสตรี เด็ก คนพิการ คนสูงอายุ รวมถึงคนด้อยโอกาสในสังคม และกลุ่มต่างๆ ที่มีความจำเพาะ ซึ่งต้องได้รับการสร้างเสริมที่สอดคล้องเหมาะสม
 
   เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุม “Think Tank” ปรึกษาหารือเรื่องการพัฒนาและขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเปราะบางตาม มาตรา 6 โดยมี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน
 
   นพ.ประทีป เกริ่นนำด้วยการชักชวนภาคีเครือข่ายพันธมิตรของ สช. ให้ช่วยกันทบทวนบทเรียนผ่านประสบการณ์การทำงาน เพื่อร่วมค้นหาคำตอบว่าอะไรคือข้อจำกัดของ “คนกลุ่มเปราะบาง” และ “คนกลุ่มเฉพาะ”“เนื้อหาในวันนี้จะเป็นการเช็คสต็อกเพื่อดูว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกำลังขับเคลื่อนงานอย่างไรบ้าง และเป็นการระดมสมองเพื่อให้เห็นว่ายังมีช่องว่างจุดใดอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดจะเกิดเป็นการขับเคลื่อนนโยบายที่กับตัวระบบ ภายใต้การสานพลังของทุกภาคส่วน” นพ.ประทีป ระบุ
 
   ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ภาพการขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเปราะบางที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากมีการบัญญัติไว้ในมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ แล้ว ยังเชื่อมโยงกับระบบและกลไกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตลอดจนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 “ประเด็นของการปรึกษาหารือคือ ประเด็นระบบการเฝ้าระวังเตือนภัย (Early Warning System) และปัญหาการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเปราะบาง ขณะนี้มีช่องว่าง หรือขาดการเชื่อมโยงอะไรบ้าง มีกลยุทธ์การดำเนินงาน แก้ไขปัญหาอย่างไร ขณะเดียวกันถ้าจะขับเคลื่อนในกลุ่มเปราะบางร่วมกัน ควรจะเน้นโฟกัสไปที่กลุ่มเป้าหมายใดก่อน และจะดำเนินการบูรณาการร่วมกันได้อย่างไร” นายสุทธิพงษ์กล่าว
 
   จากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์การดำเนินงาน และปัญหาที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ (ศธส.) มูลนิธิชุมชนไท
 
   การแลกเปลี่ยนจากผู้ที่ทำงานเรื่องนี้โดยตรง ทำให้เห็น “ช่องว่าง” ร่วมกันในหลายประเด็น อาทิ ทัศนคติของคนในสังคมไทยต่อกลุ่มเปราะบางที่ยังมีความไม่เข้าใจหรือไม่ให้ความสำคัญ ระบบสุขภาพที่ยังไม่ครอบคลุม ตลอดจนสิทธิหลักประกันสุขภาพ และระบบงบประมาณในการดูแลกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งปัญหาการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเปราะบาง ที่สำคัญได้แก่ กลุ่มเด็กติด G กลุ่มคนไร้สัญชาติ
 
   นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงเรื่องความชัดเจนของคำนิยามความเปราะบางใหม่ โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์โควิค-19 ที่อาจต้องขยายความคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น และจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลการทำงานเกี่ยวกับกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งการพัฒนางานวิชาการ งานวิจัย ซึ่งยังต้องการความร่วมมือจากนักวิชาการในการร่วมคิดเพื่อปิดประเด็นช่องว่างต่างๆ
 
   จากการรวบรวมความคิดเห็นของภาคีเครือข่าย นพ.ประทีป ได้สรุปถึงทิศทางการเดินหน้าหลังจากนี้ว่า จะมีการตั้งกลไกของคณะทำงานในเบื้องต้นเพื่อประสานการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังเตือนภัย (Early Warning System) ของกลุ่มเปราะบาง โดยบูรณาการ กับภารกิจของแต่ละหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่ง สช. จะเข้ามามีบทบาทในการสานพลังกับภาคส่วนต่างๆ โดยจะบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการปี 2564
 
   ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายระยะสั้นที่จะบรรลุร่วมกัน (Quick Win) ซึ่งต้องจำเพาะลงไปในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มเพื่อนำร่องการดำเนินการเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับ “กลวิธี” ด้านต่างๆ
 
   ทั้งการขับเคลื่อนผ่านกระแสสังคมออนไลน์ การให้ความสนใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น Big Data หรือ Telemedicine เข้ามาเสริมการทำงาน และที่ขาดไม่ได้คือการสร้างเครือข่ายระดับสากล
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม)