สช.- สปสช. หารือแนวทางสานต่อภารกิจพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนช่วงโควิด 19 ที่ประชุมเห็นพ้องใช้เงิน 50% ของงบค้างท่อกองทุนตำบลกว่า 1,500 ล้าน สร้าง “New-Normal” รณรงค์สร้างเสริมสุขภาพ-ยับยั้ง NCDs
จากแนวคิดพลิกวิกฤติเป็นโอกาสภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพต่างเห็นตรงกันว่าช่วงเวลานี้เหมาะสมที่จะทำการรณรงค์เพื่อสร้าง “บรรทัดฐานใหม่” (New Norm) ในการใช้ชีวิต ซึ่งจะช่วยยับยั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อันเป็นภัยสุขภาพลำดับต้นๆ ของไทยและของโลกได้
ที่ผ่านมา จึงมีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง และมีข้อเสนอถึงการบูรณาการเครื่องมือด้านสุขภาพของภาคียุทธศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยที่พูดกันมากคือการใช้เม็ดเงินใน กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) หรือกองทุนสุขภาพตำบล ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ค้างท่ออยู่กว่า 3,600 ล้านบาท ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นับเป็นอีกวาระที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะหน่วยงานสานพลัง ได้ชักชวนภาคีเครือข่ายมาประชุมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน ในหัวข้อ “กองทุนสุขภาพท้องถิ่น สร้าง New Norm” โดยมี นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยตัวแทน สปสช. ทั้งจากส่วนกลางและระดับเขต เข้าร่วม
ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เริ่มต้นด้วยการย้ำถึงแนวทางการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ด้วยการใช้งบกองทุนสุขภาพตำบลในสัดส่วน 50% ของเงินค้างท่อ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท มาสร้าง New-Norm ในการควบคุมโควิด 19 รวมถึงสร้างเสริมสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันโรค NCDs
ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังและอภิปรายถึงแนวทางการใช้เงินค้างท่อในมิติต่างๆ อาทิ การจัดทำแผนแม่บทหรือธรรมนูญสุขภาพเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน การสร้างทักษะและบรรทัดฐานการปฏิบัติตัวในชุมชนใหม่ การสร้างระยะห่างระหว่างบุคคล การสร้างคุณลักษณะนิสัยหลีกเลี่ยงอาหารหรือพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรค NCDs รวมถึงส่งเสริมการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ เป็นผู้ช่วยสร้างเสริมสุขภาพและทีมเลขานุการกองทุนฯ ในการขับเคลื่อนและร่างโครงการเพื่อจัดทำกิจกรรมต่างๆ
“มาตรการ Social distancing ก็พบว่าช่วยลดไข้หวัดใหญ่ได้มาก การทำให้ถูกสุขลักษณะ การล้างมือก็ช่วยลดโรคอื่นๆ ลงได้ หรือการจัดกิจกรรมไม่มีสุราก็ทำให้ปลอดโรค NCDs ไปด้วย ฉะนั้นเราจะทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นการดำเนินชีวิตปกติที่เปลี่ยนไปหรือ New-normal ที่อยู่ในชุมชน อยู่คู่วัฒนธรรมของเราต่อไป” ทพญ.ศิริวรรณ ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงแนวทางการขยายขอบเขตของนิยามด้านสุขภาพให้กว้างกว่าจัดบริการสาธารณสุข เพื่อให้ครอบคลุมมิติด้านคุณภาพชีวิต รวมถึงปัญหาและภาระที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพราะมีเครื่องมือจำนวนมากจากหลากหลายหน่วยงาน ซึ่งล้วนแต่มุ่งตอบโจทย์ของแต่ละองค์กรเท่านั้น ที่ประชุมจึงตั้งประเด็นที่การลดภาระด้วยการ “ใช้เครื่องมือเดียว” เพื่อตอบโจทย์ของทั้งพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ
เสียงสะท้อนหนึ่งทีนำไปสู่การอภิปรายต่อเป็นวงกว้าง ก็คือ ต้องไม่ให้เกิดคำพูดหรือทัศนคติที่ว่า สช. หรือ สปสช. สร้างงานมาเพิ่มให้กับพื้นที่อีก ฉะนั้นต้องวางแผนให้ดี ไม่เปิดหน้างานใหม่ แต่ใช้วิธีนำงานเดิมมาคิดและปรับปรุงให้สอดคล้องกับเป้าหมายแทน ที่สำคัญต้องถามพื้นที่ด้วยว่าเขาอยากทำหรือไม่ โดยอาจ ปักหมุดไปเฉพาะท้องถิ่นที่มีความสนใจก่อน
สำหรับหลักการในการทำงาน แม้ว่าแต่ละหน่วยงานจะมีเป้าหมายของตัวเอง แต่การทำงานต้องเป็นไปในลักษณะไร้รอยต่อ กำหนดจุดเน้นที่ชัดเจนว่าอะไรคือปัญหาที่ทุกหน่วยงานจะมาร่วมกันแก้ไข จะทำเรื่องอะไร มีเกณฑ์ องค์ประกอบ หรือรูปธรรมของการปฏิบัติอย่างไร ภายใต้โอกาสของสถานการณ์โควิด 19 ที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงสุขภาพมากขึ้น
นพ.จักรกริช เชื่อมั่นว่า แผนการใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลที่กำลังพูดคุยอยู่นี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำงานเรื่อง NCDs ในระดับพื้นที่ เพราะที่ผ่านมามีเพียงการใช้งบเป็นหย่อมๆ แต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นภาพรวม ซึ่งในปีนี้ สปสช.จะนำร่องการนำงานได้ส่วนหนึ่ง
ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจากการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาสาระที่คณะทำงานด้าน NCDs นำไปสังเคราะห์ เพื่อเดินหน้าหาข้อสรุปในการผลักดันการใช้ กปท. สู่การสร้าง New-normal ทางสุขอนามัย ที่ท้องถิ่นจะสามารถจัดการตนเองด้านสุขภาพได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147
- 100 views