ทำความรู้จัก ‘ธรรมนูญ On air’ โมเดลสู้โควิด19 ของ กขป.เขต 12 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   กขป. เขต 12 รวมพลังเครือข่าย 7 จังหวัดภาคใต้ฝ่าวิกฤตโควิด 19 เดินหน้าสร้างความร่วมมือ หารือ-เสาะแสวงมาตรการสู่ผลลัพธ์การปฏิบัติงานในพื้นที่ ผ่านการจัด “ธรรมนูญ on air” เปลี่ยนกระบวนการพูดคุยสู่เป้าหมายจากฐานต้นทุนเดิม
 
   “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” หรือกระบวนการสร้างข้อตกลงร่วมของชุมชน เป็นเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ถูกนำไปใช้เพื่อจัดการปัญหาและคลี่คลายความขัดแย้งมานักต่อนัก
 
   ไม่เว้นแม้แต่ในสถานการณ์การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ที่หลากหลายพื้นที่ของประเทศไทยได้หยิบยกเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพชิ้นนี้ขึ้นมาประยุกต์ใช้
 
   ภายใต้ “ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19” ที่กำลังเบ่งบานไปทุกตำบล พบว่าคนในชุมชนต่างพร้อมใจลุกขึ้นมาจัดทำ “ธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด 19” เพื่อร่วมกันกำหนดข้อตกลง-แนวปฏิบัติ ตลอดจนมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ใช้สำหรับรับมือเหตุการณ์
 
   ข้อกำหนดเหล่านั้นจะศักดิ์สิทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเป็นเจ้าของ ฉะนั้นหัวใจสำคัญของธรรมนูญสุขภาพย่อมหนีไม่พ้นกระบวนการการมีส่วนร่วม
 
   แม้ว่าโควิด 19 จะสร้างข้อจำกัดเรื่องการพบปะ-การรวมกลุ่ม แต่นั่นก็ไม่ได้ทำลายหลักใหญ่ใจความหรือความตั้งใจจริงของภาคีเครือข่ายในการจัดทำธรรมนูญฯ โดยล่าสุดเครือข่ายสมัชชาสุขภาพฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 12 (ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ได้ปรับรูปแบบการพูดคุยให้สอดรับกับสถานการณ์
 
   เรียกกันว่า “ธรรมนูญ On air”นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายในเขตสุขภาพฯ เขต 12 ทั้งในระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับเขต ได้ร่วมกันประชุมเพื่อปรึกษาหารือทางไกลด้วยช่องทางออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ก่อให้เกิดประเด็น ข้อเสนอ และมาตรการรับมือโควิด 19 จำนวนมาก
 
   นายชาคริต โภชะเรือง เลขานุการคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 12 และผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา อธิบายว่า กระบวนการธรรมนูญสามารถทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งการพูดคุยผ่านอากาศก็เป็นช่องทางหนึ่งในสถานการณ์ที่การรวมกลุ่มเครือข่ายทำได้ยาก
 
   “ขณะนี้มีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การทำธรรมนูญฯ ครั้งเดียว อาจไม่เท่าทันต่อการขยับตัวของสถานการณ์ เราจึงปรับกระบวนการมาใช้วิธีประชุมทางไกลแทน” เลขานุการ กขป.เขต 12 ระบุ
 
   สำหรับกระบวนการ “ธรรมนูญ On air” ในแต่ละครั้ง จะมีการกำหนดประเด็นและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้ได้มาตรการหรือข้อเสนอที่พุ่งเป้าจนนำไปสู่การปฏิบัติในช่องทางต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น เครือข่าย 4PW สมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด ศูนย์ประสานงานภาคีการพัฒนาจังหวัด (ศปจ.) เครือข่ายธรรมนูญตำบลน่าอยู่ หรือธรรมนูญสุขภาพตำบล ฯลฯ
 
   สำหรับเนื้อหาการพูดคุยในภาพรวม จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การรับมือโควิด 19 จากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเครือข่ายที่ร่วมประชุมสามารถนำแนวทางหรือข้อมูลเหล่านั้นไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที
 
   นอกจากแนวปฏิบัติแล้ว ยังมีประสานความร่วมมือในบางเรื่อง เช่น มีการสะท้อนความต้องการให้แปลงข้อมูลจากส่วนกลางเป็นภาษาท้องถิ่น ตรงนี้ก็เกิดภาพการส่งต่อข้อมูลระหว่างเครือข่าย มีสถาบันวิชาการเข้ามาร่วมจัดการองค์ความรู้ หรือหากเป็นข้อเสนอที่มีความสัมพันธ์กับหน่วยงานใดก็จะถูกส่งต่อไปตามช่องทางเฉพาะ
 
   “พื้นที่ กขป.เขต 12 มีการขับเคลื่อนงานดูแลกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว เมื่อโควิด 19 ระบาดจึงสามารถใช้ต้นทุนเครือข่ายเดิมที่มีในการบวกรวมและผสานการทำงานให้เป็นเรื่องเดียวกัน” ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพ จ.สงขลา ระบุ และเน้นย้ำว่า ฐานต้นทุนเดิมและความไว้วางใจคือสิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกันในสถานการณ์นี้
 
   นายชาคริต อธิบายอีกว่า ธรรมนูญ On air เป็นการทำไปเรียนรู้ไป ทั้งในแง่ของกระบวนการและการใช้เครื่องมือ โดยปัจจุบันได้วางรูปแบบการจัดไว้ทุกวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ช่วง 13.00 - 15.00 น. โดยจัดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ขณะที่ประเด็นแต่ละครั้งจะมีการกำหนดให้ลึกขึ้น และกว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมกระจายลงไปในพื้นที่รวมถึงเขตอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
 
   “ในช่วงที่แต่ละคนต้องอยู่บ้าน ช่องทางการรับรู้ส่วนใหญ่จึงมาจากสื่อกระแสหลัก แต่ไม่มีข้อมูลเชิงลึก ทุกคนจึงต้องการพื้นที่ในการพูดคุย ต่อข้อมูล อัพเดทสถานการณ์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือร่วมกัน” นายชาคริต ระบุ
 
   นอกจากเรื่องโรคแล้ว ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง อาหาร ความเป็นอยู่ในอีกหลายมิติ ดังนั้น ธรรมนูญ On air จึงจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ แต่จะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดความครอบคลุมในทุกด้าน และจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

หมวดหมู่เนื้อหา