แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 2 มติฯ ‘อีสปอร์ต-พยาธิใบไม้ตับ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   หลังการทำความเข้าใจในเนื้อหา-สาระสำคัญของ 4 ระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ในช่วงเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วงบ่ายของ เวทีเตรียมความพร้อมกลุ่มเครือข่ายสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 พ.ศ.2562 หรือ Pre NHA12 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การเปิด 2 ห้องย่อยให้ผู้เข้าร่วมกว่า 800 ชีวิต ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของการพัฒนาและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จากผู้แทนหน่วยงานที่ขับเคลื่อนนโยบายตัวจริง-เสียงจริง 2 มติ อันได้แก่ 1.มติความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก 2.มติการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน
 
   อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะผู้ดำเนินการสนทนาห้องย่อย “อีสปอร์ต” เปิดวงการพูดคุยด้วยการตกผลึกความคิดแก่ผู้เข้าร่วมประชุมหลายร้อยคน โดยชี้ให้เห็นถึง “หัวใจ” ของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
 
   “หัวใจแรกของสมัชชาสุขภาพฯ คือการมีส่วนร่วม ซึ่งประกอบด้วยเครือข่าย 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ-ภาคนโยบาย ภาควิชาการ-วิชาชีพ และภาคประชาชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 3 ส่วนนี้จะมาพูดคุยอะไรกันก็ได้ เพราะถ้าพูดคุยด้วยอารมณ์ก็คงจะเกิดปัญหา ดังนั้นจึงนำมาสู่หัวใจที่สองของสมัชชาสุขภาพฯ นั่นก็คือต้องใช้ความรู้ในการพิจารณานโยบาย และใช้ความรักในการหาฉันทมติร่วมกัน” อรพรรณ ระบุ
 
   สำหรับห้องย่อยมติอีสปอร์ต ได้รับเกียรติจากวิทยากร 2 ท่าน คือ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ คุณปิยะวดี พงศ์ไทย ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) จากกรมกิจการเด็กและเยาวชน ที่ได้ช่วยกันถอดบทเรียน ตั้งแต่ช่วงแรกของการจัดทำระเบียบวาระที่เต็มไปด้วย “ความเห็นต่าง” ต่ออีสปอร์ต โดยฝ่ายหนึ่งมองถึงโอกาส-ธุรกิจ ขณะที่อีกฝ่ายมีความกังวลต่อสุขภาพจิต-กายของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่สิ่งที่ทำให้ที่สุดแล้วเรื่องนี้ได้รับ “ฉันทมติ” จนเกิดเป็นมติสมัชชาสุขภาพฯ ก็คือ “การเปิดใจ” และดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะทำงาน
 
   แม้แกนหลักของการขับเคลื่อนฯ จะอยู่ในฟากฝั่งภาควิชาการ ด้านการแพทย์ หรือฝ่ายที่แสดงความกังวลต่อสุขภาวะเด็ก แต่คณะทำงานก็ไม่ได้ปิดใจหรือคิดว่าเรื่องนี้จะต้องเดินไปตามที่ตัวเองคิดเท่านั้น ในทางกลับกันกลับชวนสมาคมอีสปอร์ตฯ ภาคธุรกิจเกม เครือข่ายโทรคมนาคมที่ได้ประโยชน์จากอีสปอร์ต ฯลฯ เข้ามาร่วมทำงาน รวมถึงใช้วิธีการ “พูดคุยหลากหลายระดับ” คือมีการพูดคุยที่หลากหลายวง ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และแต่ละวงก็มีการแตกกระจายออกไปต่อยอดการทำงาน ตรงนี้สะท้อนว่าแต่ละฝ่ายไม่ได้ต้องการจะเอาชนะกันทางความคิด แต่มีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างกลไกการคุ้มครองให้กับเด็ก
 
   ขณะเดียวกัน การทำงานยังมี “กลไกการเกาะติด” ในทุกระดับ ขณะที่ขั้นตอนการจัดทำมติฯ ก็ใช้ “วิชาการ” เป็นตัวนำ ที่สำคัญคือความคิดเห็นที่ได้จากทุกวงจะถูกรวบรวมไว้อย่างครบถ้วนก่อนนำทั้งหมดไปประมวล ฉะนั้นมติหรือข้อเสนอที่ได้จึงมาจากความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ส่วน “ขาเคลื่อน” นั้น ใช้วิธีสร้างเครือข่ายที่สนใจเรื่องเดียวกันขึ้นมา จากนั้นสื่อสารด้วยแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และใช้ทุกโอกาสในการเผยแพร่ข้อมูลออกไป
 
   สำหรับการขับเคลื่อนมติฯ “พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” ซึ่งเป็นอีกห้องย่อยหนึ่งที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะของการผลักดันเชิงนโยบายตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระดับระดับชาติ นำไปสู่การเชื่อมโยงการทำงานในหลายหน่วยงาน โดยห้องนี้มี คุณสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการสนทนา
 
   รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล่าย้อนกลับไปถึงสถานการณ์ความรุนแรงของพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งในอดีตหากต้องผ่าตัดแล้วแทบไม่มีใครรอดชีวิต แต่จากความพยายามผลักดันเพิ่มขีดความสามารถในการรักษา รวมถึงการเสริมสร้างพฤติกรรมในประชาชนผ่านมติสมัชชาสุขภาพฯ ก็ทำให้สถานการณ์ทุเลาลงไปมาก
 
   ในส่วนของปัจจัยความสำเร็จนั้น คุณอรนาถ วัฒนวงษ์ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และ รศ.นพ.ณรงค์ เห็นร่วมกันว่าเกิดขึ้นได้จากการทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง และเชื่อมร้อยการทำงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ร่วมกัน บนพื้นฐานของปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่จริง รวมไปถึงเรื่องของเงินทุนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายต่างๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
 
   แน่นอนว่า การขับเคลื่อนมติฯ นี้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน ซ้ำยังเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรม “การกินของดิบ” ที่ยังฝังรากลึกอยู่ในคนไทยหลายภาคส่วน จึงต้องอาศัยกลไกหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม หรือภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนทุกช่องทาง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา