รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   รู้หรือไม่ว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทยมาตั้งแต่ปี 2541
 
   สถิติของผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง คิดเป็นร้อยละ 16 ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือประมาณ 78,540 รายต่อปี สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่ปัจจุบันไทยครองแชมป์อันดับ 1 ของโลกเสียอีก
 
   ยิ่งไปกว่านั้น มะเร็งยังครองแชมป์ 20 ปีซ้อน ในฐานะสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย เพชฌฆาตรายนี้ปลิดชีพผู้ป่วยชาวไทยเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ศพ
 
   ข้อมูลปี 2556-2558 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่ามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ถึง 122,757 ราย ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้ป่วยทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งประมาณ 18 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 9.6 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2567 ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ทั่วโลกอาจมากกว่า 20 ล้านรายต่อปี โดยร้อยละ 70 จะพบในประเทศกำลังพัฒนา
 
   มะเร็งเป็นโรคที่มีราคาแพง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาแต่ละรายสูงในหลักแสนถึงหลักล้านบาท ซึ่งสูงเกินรายได้เฉลี่ยของประชากรทั่วไปมาก
 
   ‘มะเร็ง’ ไม่เพียงสร้างความทุกข์ให้กับผู้ป่วย แต่ยังส่งผลต่อครอบครัว-คนใกล้ชิดที่ต้องดูแล ไปจนถึงผลกระทบระดับชาติในวงกว้าง เพราะค่าใช้จ่ายของการดูแลรักษามะเร็งที่สูงลิ่ว ท้ายที่สุดจึงตกเป็นหน้าที่ของประเทศในการแบกรับภาระในส่วนนี้
 
   ข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วงระหว่างปี 2559-2561 พบว่า มีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารวมกว่า 4 ล้านครั้ง ชดเชยค่ารักษาไปกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท และตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง
 
   ยิ่งในบริบทไทยที่มะเร็งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ผนวกกับภาวะการเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมทั้งปัจจัยความเสี่ยงมะเร็งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตประจำวันผ่านกิจวัตรประจำวันและสิ่งแวดล้อมความเข้าใจผิดๆ ในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งในโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้มะเร็งกลายเป็นโรคที่อยู่ในภาวะเร่งด่วนที่จะต้องได้รับความสนใจตั้งแต่ระดับนโยบาย ไล่ลงมาจนถึงระดับความรับรู้ทั่วไปของคนในสังคม
 
   ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นประจำทุกปีมาเป็นเวลา 12 ปี โดยในปีนี้ หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกเข้าสู่การพิจารณา คือ ประเด็น “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” ซึ่งเป็นข้อเสนอทางนโยบายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ระบบจัดการ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง โดยมีเป้าประสงค์ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง การป้องกันมะเร็งและการรักษาที่เหมาะสมได้มาตรฐาน และมีระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
 
   

มุ่งสร้างเครือข่ายระดับชุมชน ร่วมผลักดันนโยบายแก้ปัญหาโรคมะเร็ง

 
   แนวโน้มที่ทำให้สถิติผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากเรื่องของโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” อีกเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูเบคอน แฮม การรับประทานประเภทเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ การได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม การมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออยู่ในภาวะอ้วน และการขาดการออกกำลังกาย
 
   จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ‘มะเร็ง’ ไม่ใช่เรื่องของเคราะห์กรรมหรือบาปบุญ หากแต่เป็นผลพวงของการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อม
 
   ในระหว่างที่สถานการณ์โรคมะเร็งกำลังลุกลาม ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยประเทศไทยมีแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2540 พร้อมกับการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ จนในปี 2560 ได้มีการทบทวนและปรับปรุงแผนฉบับเดิมอีกครั้ง เพื่อให้เท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
 
   แผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ.2561-2565 ที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันปรับปรุงนั้น มียุทธศาสตร์รวม 7 ด้าน ตั้งแต่การตรวจหาโรคระยะเริ่มแรก ไปจนถึงการวิจัยเพื่อป้องกันและควบคุมโรค
 
   อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวเป็นความพยายามแก้ปัญหาในทางโครงสร้าง และเป็นความพยายามของรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังขาดการเชื่อมประสานกับกลุ่มคนที่ทำงานในชุมชนต่างๆ เพราะความท้าทายที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การสร้างความตระหนักเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ตลอดจนการตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้ที่มีร่างกายปกติ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ
 
   โดยเฉพาะในยุคสังคมออนไลน์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิดๆ ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในชุมชน-ชนบทที่เข้าไม่ถึงข้อมูล และยังไม่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยกลุ่มเป้าหมายต้องรวมผู้ยังไม่ป่วยด้วยเพราะคนเหล่านี้มักเป็นคนให้ข้อมูลกับผู้ป่วยแบบผิดๆ ทั้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์และการบอกเล่าปากต่อปาก
 
   อีกประเด็นสำคัญที่มิอาจละเลย คือ ทัศนคติของการรณรงค์และให้ข้อมูลที่ผ่านมามักเป็นการทำบนฐานการสร้างความกลัว ส่งผลให้คนทรุดลงอย่างรวดเร็วเมื่อพบว่าเป็นโรคมะเร็ง จึงควรหาแนวทางให้ข้อมูลรณรงค์อย่างผ่อนคลาย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา