ลูกขุนพลเมืองชงรัฐเป็นเจ้าภาพหลัก ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวทุกมิติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

หลังรับฟังข้อมูลพยานที่เชี่ยวชาญการดูแลผู้สูงอายุในหลากหลายมิติ คณะลูกขุนพลเมืองชี้สภาพเศรษฐกิจสังคมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต ส่งผลกระทบต่อศักยภาพและความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ ขาดความพร้อมรับสถานการณ์สังคมวัยชรา แนะรัฐต้องเป็นเจ้าภาพหลักสนับสนุน จัดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน แนะให้ครอบครัวดูแลดีที่สุด แต่ยังขาดอุปกรณ์ ส่วนชุมชนดูแลหนุนเสริม ขณะที่สถานบริการเหมาะกับผู้มีกำลังทรัพย์ในสังคมเมือง
 
   ผู้สื่อข่าวรายงานจาก เวทีลูกขุนพลเมือง ในประเด็น “การจัดระบบการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุ” ครั้งที่ 1/2557 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมรามาการ์เดนท์ ว่า คณะลูกขุนพลเมืองทั้ง 12 คนได้แลกเปลี่ยนแนวคิดแนวทางเพื่อรับทราบสถานการณ์ของผู้สูงอายุไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนไทย จากครอบครัวขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว กระทบโดยตรงต่อศักยภาพและความพร้อมของการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ทั้งเชิงจำนวนและคุณภาพ ส่วนภาครัฐยังขาดแคลนฐานข้อมูลประชากรผู้สูงอายุที่สมบูรณ์ และขาดการเตรียมความพร้อมของประชาชนในการเข้าสู่วัยชรา
 
   ทั้งนี้ ลูกขุนพลเมืองได้สะท้อนความคิดเห็นร่วมกันว่าระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวมีความจำเป็นต่อสังคมไทยในหลายรูปแบบ อาทิ รูปแบบครอบครัวดูแล แบ่งเบาภาระเบื้องต้นด้วยการทำบ้านให้เป็นห้องพยาบาล แต่ยังขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ หรือ รูปแบบเครือข่ายในชุมชน ตั้งศูนย์ฟื้นฟูชุมชน ศูนย์ดูแลกลางวัน ศูนย์อุปกรณ์ และ รูปแบบสถานบริการ บ้านพักคนชรา สถานให้การช่วยเหลือในการดำรงชีวิต บ้านสงเคราะห์ หอดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ศูนย์บริบาล ซึ่งมีข้อดีข้อด้อย แตกต่างกันไปในมิติของสังคม เศรษฐกิจ พื้นที่ และมีผลต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและภาครัฐ ซึ่งปัญหาสำคัญในปัจจุบัน คือ การขาดเจ้าภาพหลัก การคัดสรรองค์กรเจ้าภาพร่วม บุคลากร แหล่งทุนทรัพย์ รูปแบบการร่วมจ่าย และข้อยกเว้นของการจ่าย โดยมีข้อเสนอต่อทางออกของปัญหาในเรื่องการจัดทำแผนระดับชาติระยะยาวที่ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ รูปแบบการบริการสุขภาพ การสนับสนุนอาชีพ การจัดหาและจัดสรรงบประมาณ บุคลากร ฐานข้อมูลของผู้สูงอายุประเภทต่างๆ การร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตัวเองได้
 
   “การดูแลกันเองในครอบครัวน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เพราะสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมไทย แต่ความพร้อมของครอบครัวอาจแตกต่างกันระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท คนในชนบทอาจได้เปรียบกว่าคนเมืองในการฝากฝังญาติหรือเพื่อนบ้าน แต่หลายครัวเรือนยังขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น ควรมีศูนย์สนับสนุนอุปกรณ์จึงเป็นวิธีที่น่าสนใจ” ลูกขุนพลเมืองเสนอ ส่วนการดูแลโดยใช้ชุมชนเป็นฐานจะช่วยเสริมการดูแลกันเองในครอบครัวได้ดี ซึ่งการดูแลลักษณะนี้มีรูปธรรมของความสำเร็จในบางพื้นที่แล้ว ควรขยายวงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ชุมชนหลายแห่งมีต้นทุนบ้างแล้ว อาทิ กองทุน สถานที่ กิจกรรมตามประเพณีทางศาสนา ผู้นำชุมชนที่เอื้อต่อการวางระบบและยกระดับคุณภาพของการดูแล จึงควรมีเจ้าภาพหลักที่จะช่วยขับเคลื่อน โดยอาศัยต้นทุนที่มีอยู่แล้วในชุมชน และการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของภาครัฐ และชุมชนควรมีส่วนร่วมในการออกแบบระบบ มีผู้เชี่ยวชาญ ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาให้ความรู้และข้อคิดเห็นในการวางระบบ ยุทธศาสตร์ และกิจกรรมอย่างเป็นองค์รวม โดยใช้งบการบริหารจัดการที่มาจากการร่วมจ่ายของเจ้าบ้าน ท้องถิ่น และเอกชน “ส่วนการดูแลในสถานดูแลระยะยาวมีหลากหลายรูปแบบ และมีความจำเป็นในบางกรณีที่ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นการบริหารโดยภาคเอกชน จึงเหมาะสมเฉพาะกับผู้ที่มีกำลังทรัพย์ รัฐจึงควรมีอำนาจในการกำหนดราคาที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น เพราะสถานดูแลมักตั้งอยู่ในชุมชนเมือง จึงสะดวกต่อการเข้าถึงของคนเมือง รัฐจึงควรมีมาตรการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจ อาทิ การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้บริจาคเงินเพื่อการนี้ หรือการปรับปรุงสถานที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในชุมชนให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น เพื่อให้ครอบคลุมไปทุกจังหวัด”
 
   นอกจากนี้ ข้อเสนอของลูกขุนพลเมืองอาจเชื่อมโยงกับมิติด้านปรัชญาและแนวคิดหลักของระบบสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาพ อันนำไปสู่ภาวะที่ยั่งยืนและการพึ่งตนเองได้ของประชาชน ขณะที่การดูแลผู้สูงอายุมีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่และความต้องการของครอบครัว แต่เป้าหมายสูงสุดของการดูแล คือ คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและญาติผู้ดูแล ทั้งคุณภาพและปริมาณ ซึ่งควรเกิดพร้อมกัน และเตรียมความพร้อมด้านปริมาณให้เพียงพอ โดยมีคุณภาพที่เหมาะสมระดับหนึ่ง เพื่อให้มีหน่วยดูแลครอบคลุมทั้งประเทศ แล้วจึงพัฒนาคุณภาพของการดูแลให้ดียิ่งขึ้นเป็นลำดับ
 
   อย่างไรก็ตาม ลูกขุนพลเมืองได้แสดงความเป็นห่วงในการออกแบบระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และภาคประชาชน ที่มีบทบาทที่ชัดเจน รวมทั้งกลไกการเงิน กองทุน และงบประมาณ โดยมีทีมบุคลากร ค่าตอบแทน และการพัฒนาศักยภาพให้มีการเชื่อมประสานภายในจังหวัดของทุกภาคส่วนและสาขาวิชาชีพอย่างมีบูรณาการ ส่วนในระดับประเทศ ให้มีหน่วยงานระดับกรมหรือกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรง และให้มีการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาท มีการจัดทำฐานข้อมูลที่สมบูรณ์ ทันสมัย และเป็นปัจจุบันของผู้สูงอายุ ตลอดจนการประเมินผลการทำงานที่เป็นหลักประกันว่าผู้สูงอายุจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับมิติของการดูแล ต้องครอบคลุมผู้สูงอายุทุกประเภท มีบริการส่งเสริม ป้องกัน ควบคุม และรักษาสุขภาพกายและใจ มีการจัดตั้งกองทุนและการจัดสรรเบี้ยยังชีพ เตรียมความพร้อมก่อนเข้าวัยสูงอายุ พร้อมมีการพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรมและในการร่วมกิจกรรมสันทนาการ รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านและชุมชนที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตและประกอบกิจกรรมนันทนาการ มีมาตรการที่ชัดเจนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ในหมวดที่ 4 ของธรรมนูญฯ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและเป็นรูปธรรม
 
   อนึ่ง ข้อเสนอที่ได้จากคณะลูกขุนพลเมืองในครั้งนี้ จะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติปี 2552 ในหมวดต่างๆ ที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายให้ระบบสุขภาพสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศในระยะยาวโดย ยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองและยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ