- 140 views
“...จากการไตร่ตรองข้อมูลทั้งข้อดีและข้อจำกัดของทางเลือกแหล่งที่มาของงบประมาณสำหรับนำมาใช้ในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดูแลผู้สูงอายุ ลูกขุนพลเมืองมีความเห็นดังนี้...”
เสียงของ ลุงประหยัด คงจร อดีตข้าราชการวัย 58 ปีจากจังหวัดชุมพร นำคณะลูกขุนพลเมืองทั้ง 20 คน ร่วมกันอ่าน “ผลการตัดสินใจ (Verdict)” อย่างภาคภูมิใจในตอนสุดท้าย หลังจากผ่านการบ่มเพาะองค์ความรู้และถกเถียงด้วยมิตรภาพมาเป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ในช่วง 23-26 กันยายน 2561 ในเวที “ลูกขุนพลเมือง” ประเด็น “การพัฒนารูปแบบการสร้างหลักประกันความมั่นคงในสังคมสูงวัยของไทย” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรภาคีเครือข่าย
ลุงประหยัดเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า กระบวนการลูกขุนพลเมือง เปลี่ยนตัวเขาจากคนที่ไม่รู้ ไม่ใส่ใจเรื่องปัญหาสุขภาพ พัฒนามาถึงจุดที่กล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกขุนซึ่งมาจากหลากอาชีพ หลายพื้นที่ ให้นำเสนอแนวทาง และกลับไปบอกที่หมู่บ้านตนเองได้ตระหนักถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุในระยะยาวและทางออก
“ลูกขุนพลเมืองเป็นรูปแบบการจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนเหมือนรูปแบบอื่นๆ โดยจุดเด่นของเครื่องมือนี้คือจำนวนผู้เข้าร่วมหรือลูกขุนไม่ต้องเยอะ แต่สามารถเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศได้ และประเด็นการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวนี้ประชาชนคนธรรมดาก็พูดได้ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เมื่อคณะลูกขุนพลเมืองได้รับข้อมูลรอบด้านแล้ว จะตัดสินใจเลือกนโยบายที่สะท้อนความเห็นของคนส่วนใหญ่ได้อย่างดี ไม่ว่าคน 60 ล้านคน หรือ 20 คนก็จะได้ผลคล้ายกัน” นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันประปกเกล้า กล่าวในฐานะที่รับหน้าที่คัดเลือกกลุ่มตัวแทน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการ
ลูกขุนพลเมืองเป็นเครื่องมือที่ปรับมาจากตะวันตกซึ่งใช้ในการตัดสินคดีความ โดยคณะลูกขุนจะมีฝ่ายโจทก์และจำเลยมาให้ข้อมูลทั้งสองด้าน สุดท้ายคณะลูกขุนที่มาจากต่างสาขาอาชีพจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกเชื่อฝ่ายใด ซึ่งการคัดเลือกคณะลูกขุนฯ ในครั้งนี้ สถาบันพระปกเกล้าได้คัดเลือกตามหลักวิชาการ โดยเลือกกลุ่มคนจากหลากหลายกลุ่มวัยตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปถึง 70 ปี จากพื้นที่ต่างๆ ทั้งในเมืองและนอกเมือง ทั้งชายและหญิง คละอาชีพกันทั้งแม่บ้าน เกษตรกร รับจ้างอิสระ ข้าราชการ ฯลฯ ผสมผสานคนที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม จำนวน 20 คน เข้าสู่เวทีลูกขุนพลเมืองเพื่อให้ร่วมกันทำข้อเสนอ
ในส่วนการนำเสนอทางเลือก เวทีครั้งนี้ได้นำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 4 ด้าน นำเสนอทางเลือก “การดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว” มาให้ลูกขุนได้รับฟังเพื่อตัดสินใจระหว่าง
ทางเลือกที่ 1 คือการจัดเก็บผ่านระบบภาษี เพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณจัดสิทธิประโยชน์ให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยทุกคน เช่น ภาษีรายได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต เป็นต้น
ทางเลือกที่ 2 การจัดตั้งเป็นกองทุนและจัดการในระดับท้องถิ่น แหล่งงบประมาณอาจมาจากรัฐบาลส่วนกลาง ท้องถิ่น ประชาชน เอกชน เป็นต้น โดยมีรูปแบบการบริหารจัดการที่หลากหลายตามความเหมาะสม เช่น กองทุนพื้นที่กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) หรือเอกชนดำเนินการก็ได้
ทางเลือกที่ 3 เป็นกรณีเก็บภาษีสุขภาพเฉพาะ บริหารจัดการแบบกองทุนสุขภาพระดับประเทศ ประชาชนร่วมจ่ายเบี้ยเข้ากองทุนในภาคบังคับ
ทางเลือกที่ 4 ให้ร่วมจ่ายเมื่อรับบริการ โดยผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยรับผิดชอบค่าใช้บริการในบางรายการนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่กำหนด ถือเป็นทางเลือกเพิ่มเติมหากงบประมาณไม่เพียงพอ
ทั้ง 4 ทางเลือกถูกนำเสนอพร้อมเปิดให้คณะลูกขุนพลเมืองได้ซักถามจนหมดข้อข้องใจ เสริมด้วยข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2563 คาดว่าจะมีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนร้อยละ 19.1 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.6 และร้อยละ 32.2 ในปี 2573 และ 2583 ตามลำดับ
หลังได้รับข้อมูล คณะลูกขุนพลเมืองได้ถกแถลงกันและ “ตกผลึก” เป็นข้อเสนอที่มีสาระสำคัญว่า นอกเหนือจากสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้ตามมาตรฐานแล้ว ประชาชนเห็นความจำเป็นของการร่วมจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น จ่ายเพิ่มสำหรับอุปกรณ์วัสดุต่างๆ เช่น ที่นอน รถเข็น แผ่นรองซับ เป็นต้น และเห็นว่าการมีภาษีสุขภาพเฉพาะนั้นเป็นทางเลือกที่ดี รวมทั้งเห็นควรให้แต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือด้านการบริการสุขภาพ พร้อมกับส่งเสริมความเป็นสังคมจิตอาสา รวมถึงให้ขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไปยังผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนไม่น้อยด้วย
“ผลทางตรงก็คือข้อเสนอนโยบาย แต่ผลทางอ้อมที่ได้มากกว่าก็คือการกระตุ้นสำนึกความเป็นพลเมือง การพัฒนาทักษะการตัดสินใจ และการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม คนกลุ่มนี้แม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่การบ่มเพาะองค์ความรู้ของเขาจะถูกขยายผลต่อไป โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้เป็นตัวแทนประชาชนผลักดันข้อเสนอที่เขาเป็นเจ้าของเรื่องไปยังผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจนโยบายต่อไป”
นางกรรณิกา ทองประดับ วัย 50 ปี จากย่านบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อาชีพแม่บ้านของเธอไม่ได้ทำให้รู้เรื่องอะไรมากนักเกี่ยวกับระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทย แต่มาเวทีนี้ทำให้เธอได้รู้ถึงสิทธิของเธอที่พึงมีและเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพของตนเองไม่ให้เจ็บป่วย
ส่วน ลุงสันติ สมาเฮาะ วัย 62 ปี ชาวสวนเกษตรผสมผสาน มาไกลจากตำบลหนองแรต อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี บอกว่า รู้สึกสนุกกับกระบวนการลูกขุนพลเมือง และภูมิใจได้มาออกความคิดเห็นเพื่อทำข้อเสนอดีๆ เรื่องการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเพื่อกำหนดเป็นนโยบายต่อไป ถือเป็นการช่วยคนไทยด้วยกันให้ได้รับการดูแลที่มีมาตรฐานเหมือนประเทศอื่น
นายณรงค์ น้อยสุข วัย 45 ปี อาชีพรับจ้างอิสระ จากอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม คุ้นเคยกับงานจิตอาสามาระดับหนึ่ง เมื่อเข้าร่วมในเวทีลูกขุนพลเมืองก็มองเห็นปัญหาของระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงในหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งขาดการดูแลอย่างถูกสุขลักษณะ จึงนับเป็นแนวทางที่ดีที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการหาทางออก รวมถึงอาจให้ประชาชนร่วมจ่ายสมทบตามความเหมาะสมในระบบการดูแลระยะยาวเพื่อให้ได้สิทธิเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิพื้นฐานที่รัฐจัดสรรให้
ขณะเดียวกันเขายังเห็นว่าท้องถิ่นต้องมีบทบาทในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว นโยบายในภาพใหญ่จะต้องปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถนำเงินงบประมาณออกมาทำเรื่องระบบการดูแลผู้สูงอายุด้วย
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ย้ำในตอนท้ายว่า กระบวนการลูกขุนพลเมืองเป็นเครื่องมือหนึ่งของการรับฟังความเห็นประชาชนในประเด็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ใช้เครื่องมือหลากหลายมาพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายแบบมีส่วนร่วม ที่เด่นชัดสุดคือสมัชชาสุขภาพ แต่เวทีคณะลูกขุนพลเมืองนี้มีจุดเด่นคือ สถาบันพระปกเกล้าเข้ามาช่วยคัดเลือกกลุ่มตัวแทนประชาชนที่หลากหลาย และเป็นกลุ่มที่ไม่เคยไปเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ไหนมาก่อน ดูจะเป็นข้อแตกต่างสำคัญจากกระบวนการอื่นที่ผู้เข้าร่วมมักมีความเป็นตัวแทนกลุ่มและคุ้นเคยกับกระบวนการรับฟังความเห็นมาแล้ว โดยข้อเสนอที่ได้รับจากกระบวนการลูกขุนพลเมืองครั้งนี้ จะนำเสนอไปเป็นทิศทางการยกร่างข้อเสนอผ่านเส้นทางสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นที่จะจัดขึ้นต่อไป
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143