นวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่ แก้ปัญหาผู้สูงอายุมีภาวะพึ่งพิง สช.-สปสช.-กรุงไทย เล็งต่อยอดใช้ในอนาคต | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ร่วมกับ  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และธนาคารกรุงไทย ร่วมกันจัดประกวด นโยบายและนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาระบบเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของประเทศไทยผ่านการจัดทำร่างนโยบายสุขภาพและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพ Conference Day ภายใต้โครงการ “Thailand Youth Policy Initiative - TYPI by IFMSA-Thailand 2022” ซึ่งมีผลงานส่งเข้าประกวด 150 ทีม รางวัลรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “ทีม PM” กับผลงาน นโยบายเครื่องมือแพทย์หมุนเวียนเพื่อทุกคนและแพลตฟอร์มดิจิตอลเพื่อการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์อย่างทั่วถึง “med  for all” รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม “นวัต girl”  จากผลงานแพลตฟอร์มดิจิทัลสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมคุณค่าให้กับผู้สูงอายุแอพพลิเคชั่น 'มีดี' รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 “ทีม Eldente” ในผลงาน นโยบายการดูแลภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุโดยการใช้แพลตฟอร์มดิจิตอล “อิ่มสุข” รางวัล Honorable Mention  ทีม กขค. ในผลงานนโยบาย All connected เพื่อดูแลผู้สูงอายุและ Application “ผู้สูงวัยสูงสุข” และรางวัลขวัญใจวัยเก๋า คือทีม young but healthier
 

ดิจิทัลรองรับสังคมผู้สูงวัย


นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว      แต่การดูแลมีความยากและซับซ้อน ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ดังนั้น เวทีประกวดนี้จึงมีความสำคัญมากที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นผู้ที่มาดูแลประเทศในอนาคต ได้มีการรวมกลุ่ม นำสิ่งที่ถนัดนั่นคือดิจิทัล มาคิดค้นนวัตกรรม ตลอดจนมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งจะเห็นว่าผลงานเข้าประกวดนั้นดีมาก และมีแนวคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งหลายข้อเสนอที่เกิดขึ้นในเวทีนี้จะมีการนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวันนี้จะมีการจับมือกันเหนียวแน่นขึ้น อย่างธนาคารกรุงไทยที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านบริการ และเรื่องดิจิทัล อยู่แล้วก็คาดว่าจะสามารถนำแนวคิดไปต่อยอดพัฒนาระบบบริการเพิ่มขึ้นได้ ส่วน สช.นั้นจะมีการส่งเสริมให้น้องๆ เหล่านี้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นเครือข่ายและทำการศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อไป รวมถึงเข้าร่วมสมัชชาแห่งชาติ ในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะมีเรื่องเกี่ยวกับการประกันรายได้ถ้วนหน้า หรือรายได้พื้นฐาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. มีการดูแลสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคของคนไทยทุกคน ตอนนี้เรามีสิทธิประโยชน์แล้ว ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องของค่ารักษา เพราะต้องยอมรับว่าค่ารักษาพยาบาลสามารถทำให้คนล้มละลายได้ แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ช่วงโควิดทำให้เราเห็นชัดว่าต่อให้มีเงินเจ็บป่วยอาจจะเข้าถึงการรักษาได้ยาก ดังนั้นการมีสุขภาพดีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีระบบหลักประกันสุขภาพ ถือว่ามีความมั่นคงระดับหนึ่งแต่เรายังต้องการเครื่องมือบางอย่าง แนวคิดบางอย่าง คือนวัตกรรมที่ทำให้คนไทยเข้าถึงการมีสุขภาพที่ดีได้ ซึ่งผลงานที่น้อง ๆ ส่งเข้ามาล้วนมีความคิดสร้างสรรค์และมีความตั้งใจที่ดี และจะเป็นพลังให้กับประเทศ ต่อไป ซึ่งตนขอให้กำลังใจและพร้อมสนับสนุนเพื่อจะได้ก้าวไปพร้อมๆ กัน
 

อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ


นายธวัชชัย ชีวานนท์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทย ร่วมสนับสนุนโครงการ Thailand Youth Policy Initiative 2022 เพื่อผลักดันและเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่คิดค้นนำเทคโนโลยี ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มุ่งเน้นระบบเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของไทย โดยการบูรณาการในทั้ง 4 มิติ ได้แก่ สาธารณสุข  เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และ สังคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ที่พร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตควบคู่ไปกับสังคม นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต พร้อมเชื่อมโยงกับ 5 ระบบนิเวศหลักของธนาคาร โดยด้านการรักษาพยาบาลและสุขภาพ ธนาคารกรุงไทยนำเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสาธารณสุข ให้คนไทยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและมีสุขภาพดียิ่งขึ้น ผ่าน Health Wallet หรือ กระเป๋าตังสุขภาพ บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยผลงานจากการประกวดในครั้งนี้ จะถูกนำไปต่อยอดเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยในทุกมิติ ตามวิสัยทัศน์ "กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน"
 

ธวัชชัย ชีวานนท์

 

นวัตกรรมทางสังคม


ขณะที่ นศพ.พีรดนย์ ดุษฎีเวทกุล นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และ นศพ.ดาริณ ตั้งสิทธิธรรม นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 จากทีม PM ร่วมกันให้ข้อมูลว่า หลังได้รับโจทย์การประกวดก็มีการรวมตัวกันเพื่อหาข้อมูลและวางแผนในการพัฒนานวัตกรรมและข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งเรามองว่าเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หากไม่แก้ปัญหาอะไรจะทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณมากขึ้น 1 ล้านล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดิน 3.5 ล้านล้านบาท ในการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง ดังนั้นการป้องกันปัญหาสุขภาพก่อนเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนหนึ่งหากประชาชนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่มีราคาแพงได้ จะช่วยให้ลดการทุพพลภาพ ต้องพึ่งพิงได้จึงคิดค้นแอพฯ ที่รวมอุปกรณ์การแพทย์หมุนเวียน สำหรับยืมได้ และเสนอให้ภาครัฐนำนโยบายนี้ไปพิจารณาต่อ และพัฒนานวัตกรรมให้สามารถใช้ได้จริง
 

นวัตกรรมดิจิทัลรองรับสังคมผู้สูงวัย

 

นวัตกรรมทางสังคม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
ดิจิทัลรองรับสังคมผู้สูงวัย