ยก ‘ศาสตร์พระราชา” ทิศทางปฏิรูปสุขภาพทศวรรษหน้า ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ – มองสุขภาวะองค์รวม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   กรรรมการปฏิรูปด้านสังคมชี้ปฏิรูประบบสุขภาพไม่ใช่เพียงการพยายามทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องปรับกระบวนทัศน์ขยายของเรื่องสุขภาพ ให้เป็นเรื่องสุขภาวะที่เป็นองค์รวมทั้งมิติทางกาย จิต ปัญญา และสังคม พร้อมยก “ศาสตร์พระราชา” ๙ ประการเพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ ขณะที่ศิลปาจารย์เกียรติยศเน้นย้ำ “ภราดรภาพ” คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของสุขภาวะมนุษย์ ขณะที่การรายงานผลการขับเคลื่อนมติที่ผ่านมาเป็นไปอย่างคึกคัก
 
   วันที่สองของการจัดประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ภายใต้แนวคิด “๑๐ ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ” มีการปาฐกถาพิเศษจาก นพ.อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม และ ดร.บุญธรรม เทอดเกียรติชาติ นายหนังตะลุงศิลปาจารย์เกียรติยศ ผู้ก่อตั้งมหาวิชชาลัยชุมชนศิลปินพื้นบ้านศรีวิชัย
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ กล่าวว่า เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสุขภาวะของคน ครอบครัว ชุมชน และสังคม เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตและการอยู่ร่วมกันอย่างอยู่ดีมีสุข ไม่ใช่แค่เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย เป้าหมายของการปฏิรูประบบสุขภาพจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของระบบการแพทย์และสาธารณสุข แต่ต้องมองไปไกลถึงการปรับกระบวนทัศน์ของสุขภาวะองค์รวม ทั้งมิติทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เป้าหมายสำคัญคือการคืนเรื่องสุขภาพให้เป็นเรื่องของทุกคนทุกภาคส่วนร่วมกันทำเพื่อการมีสุขภาพดี หรือ สุขภาพโดยคนทั้งมวล เพื่อคนทั้งมวล
 
   นพ.อำพล กล่าวอีกว่า การทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติเป็นเสมือนการสร้างระบบการทำงานร่วมกันถักทอผ้าให้เป็นผืน ผสานภาครัฐ ราชการ ท้องถิ่นที่เปรียบดังเส้นด้ายแนวตั้ง เข้ากับเส้นด้ายแนวนอน หมายถึงภาคเอกชน สังคมและภาคส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่ง ๑๐ ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนได้เดินตามศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเป็นทิศทางการดำเนินงานเพื่อไม่ให้หลงทาง ได้แก่ ๑.การระเบิดจากภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และก้าวข้ามความคิดความเชื่อเดิมๆ ๒.การทำงานแบบองค์รวมด้วยการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพแบบองค์รวม ๓.การยึดประโยชน์ส่วนรวม ทำงานปฏิรูประบบสุขภาพที่มองประโยชน์สุขภาวะของส่วนรวมเป็นเป้าหมายเสมอ ๔.การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ทั้งในรูปแบบทางการบ้างไม่ทางการบ้าง มากบ้างน้อยบาง ๕.การพึ่งตนเองมากกว่ารอพึ่งผู้อื่นหรือสิ่งอื่น ๖.ความซื่อสัตย์สุจริตจริงใจต่อกัน โดยการทำงานแบบหุ้นส่วนหรือแบบภาคีเครือข่าย สร้างความไว้วางใจต่อกัน ๗.รู้-รัก-สามัคคี ทำงานแบบหุ้นส่วนหรือแบบเครือข่าย คิดต่างคิดเหมือนก็ทำงานด้วยกันได้ ๘.ทำงานอย่างมีความสุข การทำงานไม่ใช่การรอผลลัพธ์สุดท้ายปลายทาง แต่เป็นการสร้างความสุขตลอดเส้นทางการทำงาน และ ๙.ความเพียร การทำงานต้องปรับเปลี่ยนทั้งความคิดความเพื่อเชื่อทวนกระแสความเคยชินเดิมๆ
 
   ทางด้าน ดร.บุญธรรม เทอดเกียรติชาติ กล่าวว่า ได้สกัด ถอดรหัส และเจียระไนกระบวนการสมัชชาสุขภาพในรอบ ๑๐ ปี พบว่า หัวใจสำคัญของสมัชชาสุขภาพ คือ ภราดรภาพ โดยเฉพาะในมิติการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยสมัชชาสุขภาพมีสรรพคุณทางภราดรภาพ จึงเป็นเครื่องมือลดความขัดแย้งได้ และช่วยสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะภราดรภาพเป็นมิติวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย
 
   ดร.บุญธรรม ได้ขยายความหมายของภราดรภาพต่อกันในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแบบไทย คือ การเรียกบุคคลต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นพี่เป็นน้อง เป็นรหัสของภราดรภาพที่ไม่มีในประเทศอื่นๆ ในโลก ขณะเดียวกันก็มียิ้มสยาม และมีห้องประชุมที่คลี่คลายความขัดแย้งที่เรียกว่าห้องกัลยาณมิตร จึงเห็นได้ว่าเหล่านี้คือรหัสของภราดรภาพที่แทรกอยู่ในสมัชชาสุขภาพไทย
 
   วันเดียวกัน ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๗ มติ โดยหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อ “สุขภาพหนึ่งเดียว ของคน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม” หรือ one health ซึ่งได้รับฉันทมติจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖
 
   สัตว์แพทย์หญิงรัตนพร ตั้งวังวิวัฒน์ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว อธิบายว่า เรื่องสุขภาพหนึ่งเดียวเป็นการสร้างสุขภาพที่ดีของคน สัตว์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ขณะนี้มีการตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว ภายใต้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน โดยที่ผ่านมา มีการลงนามข้อตกลงกับอีก ๗ กระทรวง รวมถึงการดำเนินการพื้นที่นำร่องสุขภาพหนึ่งเดียวที่พื้นที่ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน
 
   นายกรภัทร ขันไชย ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอทุ่งช้าง จ.น่าน เล่าว่า อ.ทุ่งช้าง เป็นอำเภอเดียวในจังหวัดที่นำ one health มาปรับใช้ เพราะ อ.ทุ่งช้าง เป็นเขตติดต่อกับ สปป.ลาว และก่อนหน้านี้เคยเกิดการระบาดไข้หวัดใหญ่ วัณโรคปอดเสมหะติดเชื้อ โรคพิษสุนัขบ้า โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการประสานความร่วมมือไปยัง สปป.ลาว เพื่อป้องกันโรคติดต่อระหว่างชายแดน ๒ แผ่นดิน รวม ๗ ด้าน มีการสร้างทีมงานร่วมแผ่นดิน ทั้งจากส่วนราชการด้านปกครอง ทหาร สาธารณสุข ปศุสัตว์ เพื่อป้องกันโรคต่างๆ ของทั้งคน และสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง นำมาซึ่งความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างแพทย์ทั้งฝั่งไทยและลาวเพื่อข้อมูลหลายกรณีทางโรค ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อผู้คนของทั้ง ๒ ประเทศ
 
   อนึ่ง งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ.๒๕๖๐ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ภายใต้แนวคิด “๑๐ ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ” โดยกำลังมีการพิจารณาระเบียบวาระใหม่ที่เสนอเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ ได้แก่ ๑.การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ๒.การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ๓.พัฒนาการพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา ๔.ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ