ฟังความเห็น ‘ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์’ ครบ ๕ เวที ‘พระพรหมวชิรญาณ’ ชี้ เป็นเครื่องมือธำรงพุทธศาสนาสืบไป | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ปิดฉากเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ วางกรอบและแนวทางส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ สู่การปฏิบัติ-ขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อธำรงพระพุทธศาสนา และเป็นต้นแบบด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม
 
   เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ศาลายา จ.นครปฐม มีการจัด เวทีรับฟังความเห็นรายภาค ต่อ (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ... (เวทีภาคธรรมยุต) โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีตัวแทนคณะสงฆ์และฆราวาสกว่า ๑๐๐ รูป/คน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธรรมนูญฉบับนี้เข้าร่วม
 
   พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ กล่าวว่า ความคาดหวังต่อธรรมนูญคือการนำหลักการและรายละเอียดไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งหวังว่าเจ้าคณะสงฆ์ ผู้ปกครอง รวมทั้งภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ จะช่วยกันขยายผลเพื่อให้เกิดพื้นที่รูปธรรมแบบอย่างในระยะเริ่มต้น และขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในระยะต่อไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
 
   “ขอให้ทุกท่านใช้องค์ความรู้ตามหลักธรรมวินัยและหลักวิชาการ เป็นหลักการพื้นฐานในการให้ความคิดเห็นเพื่อทำให้ธรรมนูญมีความสมบูรณ์มากที่สุด หากทำได้เช่นนี้ ธรรมนูญจะไม่ใช่เพียงนโยบายหรือแนวทางการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ หากแต่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาพระพุทธศาสนาให้ธำรงสืบไป”
 
   ก่อนเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น พระมงคลธรรมวิธาน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผู้แทนจาก มจร, มมร, สปสช., สสส., กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ร่วมกันชี้แจงถึงความเป็นมา บทบาทของหน่วยงาน และสาระสำคัญของธรรมนูญ
 
   หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันออกแบบภาพพึงประสงค์ของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจสาระรายประเด็นใน ๔ ประเด็น ประกอบด้วย ๑.พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ๒.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ๓.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม และ ๔.การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์
 
   อนึ่ง การจัดเวทีรับฟังความเห็นรายภาคต่อ (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. .... ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว จำนวน ๔ ครั้ง โดยเริ่มจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ เวทีแรก ณ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.ขอนแก่น, จ.แพร่ และ จ.นครศรีธรรมราช ตามลำดับ จนมาถึงการจัดเวทีรับฟังความเห็นรายภาค ต่อ (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ... (เวทีภาคธรรมยุต) ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายจากทั้งหมด ๕ เวที
 
   สำหรับการดำเนินการภายหลังรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติครบทั้ง ๕ เวทีแล้ว คณะกรรมการฯ จะสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงร่างธรรมนูญฯ อีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยหากที่ประชุม มส. เห็นชอบ ก็จะสามารถประกาศได้ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ เดือนธันวาคม ๒๕๖๐ นี้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ