ยังไม่ทันเริ่มทำงาน แค่ตื่นมาก็เหนื่อยเลย! Gen-Z เหนื่อยล้าทางอารมณ์มากที่สุด ปัญหาคือ ‘หัวหน้า-องค์กรเน้นผลลัพธ์ตัวเลข’ นักวิชาการเสนอ ‘the Right to disconnect’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการจุฬาฯ เผย 3 ปัจจัยกระตุ้น Emotional crisis ‘การทำให้คนรักเสียใจ-สภาพเศรษฐกิจ- support system ที่ถูกทำลาย’ ยืนยันการป้องกัน-ให้คำปรึกษาพูดคุย ช่วยได้ ประเทศไทยต้องเพิ่มการเข้าถึงให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันจากการเก็บข้อมูลพนักงานในวัยทำงาน 1,000 คน พบส่วนใหญ่เหนื่อยล้าทางอารมณ์ โดยเฉพาะ Gen-Z ที่เป็น first jobber หนึ่งในต้นตอของปัญหาคือ ‘หัวหน้า’ แนะให้องค์กรใช้ the right to disconnect ทำให้คนทำงานรู้สึกปลอดภัยในเวลาเลิกงาน ด้าน ‘เด็ก-เยาวชน’ รับมือกับความเครียดด้วยการ ‘ฝืนยิ้ม’
 

นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ในประเด็นหลัก (ธีม) “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาส และความหวังอนาคตประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ซึ่งบริเวณลานสมัชชาฯ มีการจัดเวทีการพูดคุยหัวข้อ การส่งเสริมพัฒนาสุขภาวะทางจิต “การออกกำลังใจ … ใครก็ทำได้” โดยมี น.ส.นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต และ Miss Thailand World 2019 เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สุขภาพจิตกับสุขภาพกายสำคัญต่อคนไม่ต่างกัน แต่สุขภาพจิตมักถูกมองข้าม ถูกเพิกเฉย เพราะอาจเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น คนมักจะนึกถึงสุขภาพจิตเมื่อสถานการณ์ไปถึงเส้นของปัญหาแล้ว แตกต่างกับสุขภาพกายที่มองเห็นและถูกพูดถึงบ่อย ซึ่งทุกวันนี้เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพจิต ต้องบอกว่ามี แต่ถามว่าอยู่เฉพาะในคนกลุ่มไหน หรือกระจายไปทั่วถึงทุกคนในสังคมแล้วหรือไม่ จากการพูดคุยกับผู้ที่ทำงานด้านนี้ในระดับพื้นที่พบว่าคำว่าสุขภาพจิต ยังเป็นคำที่ยังไม่กลืนเข้ากับสังคมไทย
 

ณัฐสุดา เต้พันธ์


ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวว่า ปลายทางที่จะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดที่สุดของปัญหาสุขภาพจิตคือการฆ่าตัวตายซึ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาจุฬาฯ เคยทำวิจัยด้วยการสัมภาษณ์คนที่อยู่ในภาวะวิกฤตทางอารมณ์ หรือ Emotional crisis หรือคนที่อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้ พบว่ามีตัวกระตุ้นคือ 1. การเรียน ซึ่งเชื่อมไปสู่การทำให้คนที่เขารักเสียใจ 2. เรื่องเงินและสภาพเศรษฐกิจ 3. ความสัมพันธ์ของเพื่อน คนรัก หรือ support system ที่แยกจากกัน

ทั้งนี้ งานวิจัยทุกชิ้นยืนยันว่า Prevention หรือการป้องกันช่วยได้ ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เข้าถึง อาทิ การเพิ่มบริการปฐมภูมิ เช่น แค่รู้สึกไม่ดี หรือรู้สึกอยากพูดคุยก็สามารถทำได้ หรือมุมมองต่อเรื่องการออกกำลังใจนั้น ประเทศไทยดีพอแล้วหรือยัง ไม่ใช่ต้องรอให้รู้สึกไม่ไหวแล้วก่อนแล้วจึงจะเข้าถึงบริการต่างๆ ซึ่งปัจจุบันตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นมากๆ ตรงนี้จะสัมพันธ์ต่อปริมาณความต้องการความช่วยเหลือและความเพียงพอของผู้ให้ความช่วยเหลือด้วย

“ทุกๆ การถอดบทเรียนและการศึกษา ยืนยันตรงกันว่าการเข้าถึงบริการ การเข้าถึงนักจิตวิทยา การเข้าถึงการให้คำปรึกษา-พูดคุย ช่วยคนได้จริงๆ แต่ปัจจุบันยังเข้าถึงเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นคำถามคือเมื่อใดคนทุกคน-คนทุกกลุ่มในประเทศจะเข้าถึงได้” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว
 

กันตพร ขจรเสรี


นายชูไชย นิจไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสุขภาพจิต เราอาจแบ่งได้ว่าสุขภาพดีหรือไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะวิถีชีวิตในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเครียดและเกิดความเปราะบางในหลายมิติ ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้สุขภาพจิตเป็นไปในเชิงบวก เช่น อาจชวนกันออกกำลังใจเพื่อให้ใจแข็งแรง ประเด็นคือคนชั้นกลางอาจเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตได้ง่าย แต่หากเป็นชุมชนคนบ้านๆ การพูดคุยหรือเชิญชวนให้ออกกำลังใจเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย การแปลความไม่ง่าย โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนจำนวนมาก หรือคน 90% ของประเทศมีจิตใจที่แข็งแรงได้จริง

สำหรับสถานการณ์จากการทำงานในชุมชน พบว่าข่าวสารหรือเหตุที่ปรากฏในปัจจุบันจำนวนมากเป็นผลพวงปลายทางจากที่คนในชุมชนเผชิญความเปราะบางในชีวิต ทั้งจากปัญหาข้าวยากหมากแพง อาชีพ ต้นทุนการศึกษา และไปพัวพันกับปัญหายาเสพติด ฯลฯ โดยเฉพาะคนบ้านๆ เขามีปัญหาจากวิถีชีวิตและมีความเครียดสูง หาทางออกไม่ค่อยได้ ส่งผลกระทบตั้งแต่ในบ้าน เช่นการส่งต่อความเครียดถึงกัน และเมื่อก้าวเท้าออกจากบ้านก็เจอสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียดอีก เหล่านี้ช่วยก่อรูปให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ฉะนั้นการทำงานในชุมชนต้องใช้ศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงให้คนในชุมชนเอาไปใช้ในชีวิตได้จริง

ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สุขภาพจิตเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจของเรา อาจนิยามง่ายๆ ว่าเรามีความสุขกับชีวิตมากขนาดไหน เราพึงพอใจกับสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวันขนาดไหน เรามีอารมณ์ทางบวก มีกำลังใจมากน้อยขนาดไหน เป็นการอธิบายถึงอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อชีวิตของเราและเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราในทุกๆ วัน และเมื่อพูดถึงสุขภาพจิตในสถานที่ทำงานก็จะนึกถึงเรื่องความเครียดในที่ทำงาน ซึ่งไม่ใช่แค่ความเครียดที่เราต้องเจอภายใน 1 วัน เช่น เดทไลน์ ผู้คน-ลูกค้าที่อาจเข้ากับเราไม่ได้ แต่ต้องมองไปที่ภาพรวมว่าสิ่งเหล่านี้สะสมจนกลายเป็นความทุกข์ทรมานในการทำงานหรือไม่ นำไปสู่ภาวะหมดไฟ
 

เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช


ทั้งนี้ มีโอกาสได้เก็บข้อมูลจากพนักงานในประเทศไทยจำนวน 1,000 คน พบว่า พนักงานส่วนใหญ่จะรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ คือตื่นขึ้นมาก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว หรือเมื่อไปถึงที่ทำงานแม้ว่าจะยังไม่เริ่มทำงานแต่ก็รู้สึกว่าทำงานมาทั้งวันแล้ว ขณะที่เรื่องช่วงวัยหรือ Generation นั้น พบว่า Gen-Z ซึ่งอาจเป็น first jobber หรือการทำงานเป็นครั้งแรก มีความรู้สึกเหนื่อยล้าหรือภาวะหมดไฟที่สูงกว่าคน Generation อื่น โดยให้เหตุผลอาทิ ไม่เห็นถึงศักยภาพของตัวเอง และพบอีกว่าเพศหญิง และ LGBTQ+ มีภาวะความเครียดและความเหนื่อยหน่ายทางอารมณ์ที่สูงกว่าเพศชาย

“นโยบายองค์กรที่มุ่งเน้นไปที่ตัวเลขหรือผลลัพธ์โดยไม่แคร์คนทำงาน คือสิ่งที่พนักงานเครียดมาก และที่ตอบตรงกันมากที่สุดคือ ‘หัวหน้า หัวหน้า หัวหน้า’ คำถามคือเราพัฒนาศักยภาพผู้นำของหัวหน้าเพียงพอแล้วหรือไม่ สิ่งที่จะทำให้คนทำงานไม่เครียดคือการมีหัวหน้าที่เข้าใจและคอยถามความรู้สึกของเขา การให้ทักษะแก่หัวหน้าเพื่อดูแลคนในทีมได้เป็นสิ่งสำคัญ ตลอดจนการสร้างนโยบายยืดหยุ่นในการทำงาน และ the Right to disconnect ที่ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยว่าจะไม่ต้องตอบอีเมลในช่วงเวลาค่ำและได้พักผ่อนจริงๆ ให้สามารถปิดสวิตช์การทำงานได้จริงๆ รวมถึงการเปิดช่องให้พนักงานเข้าถึงการได้รับบริการหรือการส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพใจ” ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าว

น.ส.กันตพร ขจรเสรี หรือน้ำหวาน ผู้ร่วมก่อตั้งมายด์เวนเจอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจวัยรุ่นและเยาวชนจำนวนมาก กรมสุขภาพจิตได้ทำงานวิจัยพบว่ามีวัยรุ่นและเยาวชนไทย 1 ใน 3 หรือ 32% มีความเสี่ยงต่อการซึมเศร้า นั่นหมายความว่าเพื่อนหรือบุตรหลานของเรา เขาอาจดูเหมือนยิ้มและมีความสุข แต่เมื่อเขาอยู่คนเดียวในห้องกลับกำลังรู้สึกแย่อยู่ ที่สำคัญคือเขาอาจจะโดดเดี่ยวและไม่มีคนให้คุยด้วยเลย และถึงแม้ว่าเด็กและเยาวชนจะยังไม่เข้าสู่โลกของการทำงานแต่ก็มีภาวะความเครียดไม่แพ้กัน
 

กันตพร ขจรเสรี


ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลน้องๆ เยาวชนกว่า 900 คน พบว่าวิธีการรับมือกับความเครียดคือเล่นเกม เล่นโทรศัพท์ และฝืนยิ้ม เพราะเขาเหล่านั้นไม่มีคนคุยด้วยและไม่มีเครื่องมือในการดูแลสุขภาพจิตตัวเอง ส่วนปัญหาที่พบบ่อยในวัยนี้คือการค้นหาตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัยแล้วความต้องการของตัวเองไม่ตรงกับความต้องการของผู้ปกครอง ตลอดจนการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นจนมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้คือการหาเครื่องมือให้กับคนกลุ่มนี้รับมือกับความเครียดได้

         

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
การส่งเสริมพัฒนาสุขภาวะทางจิต