- 75 views
สช. – เมืองพัทยา ผนึกชาวชุมชนเกาะล้าน และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวที “สมัชชาสุขภาพเกาะล้าน ครั้งที่ 1” พร้อมประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพชุมชน” บนกติกาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างสมดุลเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิต-สุขภาวะ ด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะ
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ เมืองพัทยา ชาวชุมชนเกาะล้าน และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวที “สมัชชาสุขภาพเกาะล้าน ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2566” พร้อมการประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน” ซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการกำหนดทิศทางการมีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะและความเป็นอยู่ของชาวชุมชนคนเกาะล้าน ณ วัดใหม่สำราญ (เกาะล้าน) อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เกาะล้านถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญกับเมืองพัทยา โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเกาะล้านได้กลายเป็นหนึ่งหมุดหมายที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก โดยตัวเลขของปีนี้นับถึงเพียง ก.ค. 2566 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใน จ.ชลบุรี แล้ว 13.5 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ที่จะมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 18 ล้านคน โดยพบว่าปัจจุบันเป็นสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ด้วยการท่องเที่ยวที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะล้าน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวข้ามเรือมาเที่ยวเฉลี่ยวันละหลายพัน กระทั่งถึงหลักหมื่นคนในวันหยุด ทำให้การบังคับใช้ระเบียบต่างๆ ของเมืองพัทยาที่ดำเนินการอยู่ อาจไม่เพียงพอที่จะรับมือกับนักท่องเที่ยวทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ‘ธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน’ จะมีส่วนในการเข้ามาช่วยพัฒนาให้เกาะล้านกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลในคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนได้
นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ในส่วนของทางเมืองพัทยาเองได้มีแผนในการดูแลเกาะล้าน ไม่ว่าจะเป็นล่าสุดที่กำลังเกิดเตาเผาขยะ เพื่อจัดการปัญหาขยะบนเกาะที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงการบูรณะท่าเรือแหลมบาลีฮาย เป็นต้น ขณะที่กระบวนการมีส่วนร่วมเองก็ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2565 ที่ได้มีการจัด ‘สมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา’ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีฉันทมติออกมาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของคนในเมืองพัทยา ตามมาด้วยความคืบหน้าของพื้นที่เกาะล้าน ที่คนในชุมชนได้ร่วมมือกันจัดงานสมัชชาฯ ในครั้งนี้ขึ้น
“ด้วยความร่วมมือกันเป็นอย่างดีของชาวชุมชน และแรงหนุนเสริมจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยกันผลักดันให้ความคิดเห็นและความต้องการของพี่น้องประชาชน สามารถออกมาสู่ธรรมนูญสุขภาพของชุมชนอย่างเป็นทางการ ซึ่งหวังว่าธรรมนูญฯ ฉบับนี้จะเป็นเจตนารมณ์ร่วมของคนเกาะล้าน เป็นภูมิคุ้มกันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยรักษาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศแห่งนี้ ให้อยู่กับทุกคนได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายปรเมศวร์ กล่าว
นายธนกร สุขขี ประธานคณะทำงานยกร่างธรรมนูญสุขภาพชุมชนเกาะล้าน กล่าวว่า ด้วยความที่เกาะล้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาจำนวนมาก เมื่อเกิดการประกอบธุรกิจ รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ มากขึ้น จึงตามมาด้วยปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน การใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไม่เป็นระเบียบ การปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน จึงทำให้เกิดการใช้กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับนี้ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบกับความเป็นอยู่ของทุกคนร่วมกัน
สำหรับเนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ได้มีการกำหนดข้อตกลงหรือแนวทางต่างๆ อาทิ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การป้องกันยาเสพติด การพัฒนาบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพ การส่งเสริมกลุ่มอาชีพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมศักยภาพเยาวชน การควบคุมขยะ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการใช้น้ำ เป็นต้น
“ชาวชุมชนเราอยู่ร่วมกันบนเกาะนี้มาเป็นร้อยปี มาวันนี้กำลังจะมีกฎกติกาหรือธรรมนูญฯ ขึ้นมาเป็นฉบับแรก ที่เกิดจากการร่วมกันคิด ร่วมกันสะท้อนปัญหาและความต้องการออกมา ซึ่งธรรมนูญฯ ฉบับนี้ก็คือพิมพ์เขียว หรือแบบแปลนที่พวกเรามาร่วมกันออกแบบว่าต้องการให้เกาะล้านเป็นอย่างไร โดยเป้าหมายที่เราวางไว้ของเนื้อหาทุกอย่างในนี้คือการนำไปสู่ เกาะล้านน่าอยู่ น้ำทะเลใส หาดทรายขาว ปะการังสวย ชุมชนสามัคคี รักษาประเพณี ท่องเที่ยวยั่งยืน” นายธนกร กล่าว
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นับเป็นความยินดีที่พี่น้องชุมชนชาวเกาะล้านได้นำเอาธรรมนูญฯ มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างให้เกิดการกินดี อยู่ดี และนำไปสู่อนาคตที่ดีของประชาชน โดยกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะในลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ในหลายระดับ ตั้งแต่ในระดับชาติมาจนถึงในระดับพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากการช่วยกันระดมปัญหาและความต้องการของผู้คน ก่อนนำมาสู่การร่างเนื้อหาหรือนโยบาย ซึ่งเป็นการรวบรวมทางเลือกต่างๆ ในการรับมือกับปัญหาเหล่านั้น
นพ.ประทีป กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดหลังการประกาศใช้ธรรมนูญฯ ที่ได้ออกมาเป็นนโยบาย ข้อตกลง หรือกติการ่วมกันแล้ว คือการนำเนื้อหาของตัวธรรมนูญฯ นี้ไปร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดความบรรลุผล พร้อมทั้งการประมวลผล และยกระดับพัฒนาข้อตกลงนี้ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างเช่นในพื้นที่เกาะล้านแห่งนี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของประเทศ อันเต็มไปด้วยความหลากหลายและสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อน จึงต้องมีการออกแบบกระบวนการหรือเครื่องมือเพื่อรับมือ
“แม้เครื่องมือสำคัญจะยังเป็นกฎกติกาหรือระเบียบของทางราชการ ซึ่งในที่นี้คือเมืองพัทยา หากแต่มาตรการของทางการอย่างเดียวก็อาจยังไม่เพียงพอ แต่ต้องมีมาตรการของภาคประชาชน ที่ใช้ความร่วมแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วนเข้ามาหนุนเสริม ช่วยให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้นมีพลัง จึงคาดหวังว่านอกจากธรรมนูญฯ ที่ประกาศในวันนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเกาะล้านแล้ว จะยังเป็นตัวอย่างให้เกิดกระบวนการธรรมนูญต่างๆ ขึ้นมาในทุกพื้นที่ของเมืองพัทยา และเป็นตัวอย่างของจังหวัดอื่นๆ ได้ต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว
อนึ่ง ภายในเวทีสมัชชาสุขภาพเกาะล้านในครั้งนี้ ยังได้มีการเสวนา “สร้างสุขวิถีชีวิตคนเกาะล้านที่ยั่งยืน” โดย นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), น.ส.รษิดา เรืองศิริ ผู้แทน สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ นายธนกร สุขขี ที่ได้ร่วมกันให้มุมมองของภาคส่วนต่างๆ ในการหนุนเสริมความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมเพื่อสุขภาวะของคนในชุมชน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141