แขนสองข้างของ สช. บนภารกิจสานพลัง ‘ข้ามหน่วยงาน’ ใช้พลัง Soft side หนุนเสริมศักยภาพ Hard side | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

         สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน ... ไทยยังคงอยู่ในสถานการณ์การเมืองภายใต้ระบบและกลไกอำนาจที่ไม่ปกติ การเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลจึงยังไม่สะเด็ดน้ำแม้จะผ่านเลือกตั้งใหญ่ของประชาชนมาแล้วกว่า ๓ เดือน กลับมาที่นิตยสารสานพลัง ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ ฉบับนี้นั้น กองบรรณาธิการได้พูดคุยกันและลงความเห็นว่าจะรวบรวม ‘ดอกผล’ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานตลอด ๔ ปีที่ผ่านมา ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นธีมหลักของเล่ม

         ฉะนั้นเพื่อให้สอดคล้อง คอลัมน์คุยกับเลขาธิการฉบับนี้ ผมจึงขออนุญาตบอกเล่าถึงการทำงานบางช่วงบางตอน และขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน จนทำให้เราสามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ของประเทศจากการระบาดของโควิด-19 และภาวะแทรกซ้อนมาได้อย่างไม่บอบช้ำมากนัก

         ผมเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. พร้อมทีมรองเลขาธิการฯ เมื่อต้นเดือน ต.ค. ๒๕๖๒ และอีก ๒ เดือนถัดมา คือในเดือน ธ.ค. ๒๕๖๒ โลกได้พบกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นั่นก็คือ โควิด-19 ซึ่งได้แพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงต้นปี ๒๕๖๓ ราวๆ วันที่ ๑๓ มกราคม เกิดความแตกตื่นของประชาชนทั่วประเทศ รัฐบาลประกาศปิดกรุงเทพฯ ช่วงสงกรานต์ของปีนั้น และมีผลแทรกซ้อนสืบเนื่องต่ออีกกว่า ๒ ปี กว่าที่รัฐบาลสามารถออกประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในเดือน ก.ค. ๒๕๖๕ และปรับเข้าสู่ระยะเฝ้าระวังที่ไม่เป็นอันตรายในเดือน ต.ค. ๒๕๖๕

       
ตลอดห้วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาด แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการทำงานของ สช. โดยเฉพาะการทำงานภายนอกและการทำงานเชิงพื้นที่ ฉะนั้นสิ่งที่ผมและทีมผู้บริหารสามารถร่วมกันทำได้ในช่วงแรกโดยทันทีคือการมุ่งกลับเข้ามาภายในองค์กร นั่นคือ ‘ยกระดับสมรรถนะภายในองค์กร’ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรับกับสถานการณ์ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว

        
หากเปรียบเทียบกับร่างกาย สามารถมอง สช. ออกเป็น ๒ แขน โดย ‘แขนซ้าย’ จะทำหน้าที่สนุนเสริมการสร้างเครือข่ายและความเข้มแข็งในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาก่อน ๔ ปี สช.ทำได้ดีอยู่แล้ว หน้าที่ของผู้บริหารจึงเป็นการสานต่อให้ทำต่อไป แต่มีการเปลี่ยนเป้าหมายเล็กน้อย เช่น มุ่งสู่การเฟ้นหาเครือข่ายใหม่เพิ่มเติม เพราะเครือข่ายเดิมของเราค่อนข้างมีอายุ-อาวุโส จึงต้องเพิ่มเติมเยาวชน-คนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนสังคมให้มากขึ้น

       
ขณะที่ ‘แขนขวา’ ต้องสานพลังหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาใน ‘ประเด็นใหญ่’ ของสังคม แต่บทบาทของ สช. จะไม่ใช่บทบาทนำหรือพระเอกในการแก้ไขปัญหา เราไม่ได้ทำงานแข่งกับใคร เพราะหลากหลายเรื่องราว-ประเด็น มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพดูแลอยู่อย่างครอบคลุมแล้ว ฉะนั้น สช. จึงทำหน้าที่เป็นองค์กรสานพลัง ชักชวนหน่วยงานที่มีทรัพยากรและองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน เข้ามาทำงาน ‘แบบข้ามหน่วยงาน’ เพื่อให้เกิดการบูรณาแก้ไขปัญหาเชิงระบบได้อย่างแท้จริง

      พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่านครับ จากประสบการณ์ทำงานใน สช. กว่า ๔ ปี ผมเห็นและสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ‘เครื่องมือ’ ภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เน้นกระบวนการ Soft side” มีประสิทธิภาพ และมีพลังอย่างมากในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกลไกที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันทำงานในพื้นที่ด้านสุขภาวะจนมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคี ก็เชื่อมไปยังภาพใหญ่ของสถานการณ์สุขภาพในประเทศ หรือตรงกับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะซึ่งค่อนไปทาง “Hard side” ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ

      
ก่อนมา สช. ผมเองทำงานมานาน และเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของระบบราชการ แต่กับเครื่องมือ Soft side ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ถือว่ามีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยหนุนเสริม Hard side หรือนโยบายหลักของประเทศได้จริง ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีบันทึกอยู่ในนิตยสารฉบับนี้

      
นอกจากนี้ เนื่องด้วยห้วงเวลาที่ลงตัวอย่างพอดิบพอดี ทำให้ตลอดระยะเวลา ๔ ปี ที่ผ่านมา เราได้ทบทวน-พัฒนา และจัดทำ ทั้งธรรมนูญฯ หลักเกณฑ์ แนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตลอดจนคู่มือ ออกมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งสอดรับกับยุคสมัยและจะเป็นเครื่องมือให้ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นจริง

      
จะเห็นได้ว่าขณะนี้เริ่มมีการรับรู้และยอมรับว่า ‘สุขภาพ’ เกี่ยวข้องกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม หรือทุกมิติทั้งหมดในสังคม การลงทุนในด้านต่างๆ ของภาครัฐจึงต้องคำนึงถึงด้านสุขภาพของทุกคน เมื่อมีการยอมรับในเรื่องนี้ ก็จะช่วยให้การทำโครงการพัฒนาต่างๆ เชื่อมโยงมายังมิติของสุขภาพ

      
ในอนาคต จำเป็นจะต้องมีการวางฉากทัศน์ของกระบวนการ และภาพของระบบสุขภาพอันพึงประสงค์เอาไว้ โดยเฉพาะกับการวางเป้าหมายการขับเคลื่อนให้สอดรับกับสถานการณ์สุขภาพที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้น อย่างเช่นประเด็นเรื่องโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป คนสูงอายุมากขึ้นแต่คนเกิดน้อยลง

      
อีกเรื่องหนึ่งคือการติดตามและรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี ต้องเป็นส่วนที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมหากจะทำนโยบายสาธารณะด้านนี้ในอนาคต ขณะเดียวกันรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงได้ และใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพกับทุกคน หากใช้เทคโนโลยีสูง ราคาแพง ก็อาจส่งผลให้ประชาชนเข้าไม่ถึง ต้องหาจุดลงตัวที่เหมาะสมให้ได้

      
งานของ สช. จำเป็นต้องผลักดันให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพราะสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และเราคงไม่อาจมีความสุขกับประเด็นย่อยๆ ได้อีกต่อไป

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา