10 นโยบาย ‘เยาวชน’ แก้ปัญหา ‘สุขภาวะสิ่งแวดล้อม’ บทบาทการมีส่วนร่วมในเวที ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file
Youth Engagement for Environmental Policy


10 ข้อเสนอเชิงนโยบายเพืการสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมทียั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 ถูกนำเสนอโดยเยาวชน นิสิต นักศึกษา จำนวน 10 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบในโครงการ “Youth Engagement for Environmental Policy” หรือ YEEP! เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 สู่สายตาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งภายหลังจากนี้ทั้ง 10 ข้อเสนอก็จะถูกรวบรวมเข้าสู่การถกแถลงปรับแก้ไขร่างมติ ที่เป็น 1 ใน 3 ระเบียบวาระของ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครังที่ 14” ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในช่วงปลายปีนี้

ข้อเสนอที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากภาคการท่องเที่ยว โดยใช้มาตรการทางภาษี ระบบเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชัน, การแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัย ด้วยการผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกจากการบริการเดลิเวอรี ด้วยการใช้ภาชนะใช้ซ้ำ หรือโครงการมัดจำกล่องข้าว ฯลฯ เหล่านี้คือมุมมองการแก้ไขปัญหาของภาคเยาวชน ที่จะถูกนำไปเสนอในนามของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)
 

บทบาทการมีส่วนร่วมในเวที ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’


อาจนับได้ว่านี่เป็นปีแรกที่การมีส่วนร่วมของกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา เยาวชน และคนรุ่นใหม่ ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ยกระดับของรูปธรรมขึ้นไปอีกขั้น ด้วยกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะของภาคเยาวชน ที่เดินหน้าไปคู่ขนานพร้อมกันกับกระบวนการหลักของสมัชชาสุขภาพ ก่อนจะไปบรรจบกันในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (NHA) ประจำปี 2564 ซึ่งข้อเสนอของคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นการรวบรวมมาจากเสียงของกลุ่มเยาวชนที่หลากหลาย และนำไปผนวกรวมกับร่างมติที่มาจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ
 

บุญสิทธิ์ งามวิโรจน์เจริญ


บุญสิทธิ์ งามวิโรจน์เจริญ หรือ “ฉิก” นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จาก IFMSA-Thailand ในฐานะ “Liaison for NHA” เล่าว่า เมื่อปีที่แล้วตนเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนเครือข่ายเด็กและเยาวชน เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ซึ่งพบว่ามีความน่าสนใจเนื่องจากหลักการพัฒนานโยบายแบบ Health in All Policies สอดคล้องกับความจริงที่ว่าเรื่องของสุขภาพนั้นไม่ได้เป็นเฉพาะเรื่องของการแพทย์ แต่เกี่ยวข้องกับทุกองค์ประกอบ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมองว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคเยาวชนนั้น ไม่อยากให้เป็นเพียงการเข้าไปแสดงความคิดเห็นของตัวแทนเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสเข้าไปร่วมภายในงาน แต่อยากให้เป็นความคิดเห็นที่มาจากเสียงของเยาวชนหลากหลายกลุ่ม จึงเป็นที่มาที่ในปี 2564 นี้ ทาง IFMSA-Thailand ได้จัด Small Working Group หรือ “SWG for NHA” ขึ้น เพื่อรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นในรูปแบบต่างๆ จากภาคีเครือข่ายเยาวชนและคนรุ่นใหม่

สำหรับ SWG for NHA ของภาคเยาวชนนี้ ได้แบ่งกิจกรรมการรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระเบียบวาระทั้ง 3 เรื่องในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ได้แก่ 1. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 2. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม 3. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในสถานการณ์วิกฤตสุขภาพ

ในส่วนของแต่ละประเด็นนั้นก็ได้มีการจัดออกมาเป็นรูปแบบของกิจกรรมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ผ่าน Webinar, การเปิดเวทีพูดคุยระดมสมองผ่าน Clubhouse, การจัดอบรม Workshop รวมไปถึงการจัดประกวดผลงานสื่อ บทความประเภทต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นของภาคเยาวชน มากลั่นกรองเป็นข้อเสนอเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

“เราคาดหวังที่จะได้เห็นความคิดเห็นของพวกเราสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ ซึ่งนอกจากที่ความเห็นจะได้เข้าไปอยู่ในนโยบายแล้ว ยังอยากเห็นองค์กรต่างๆ นำความเห็นเหล่านั้นออกไปใช้จริง เพราะที่ผ่านมาเราเห็นหลายองค์กรที่นับรวมเด็กและเยาวชนเข้าไปเหมือนเป็นแค่เชิงสัญลักษณ์ (Tokenism) ว่าได้เปิดให้เข้ามามีส่วนร่วมแล้วเท่านั้น แต่ความเห็นเหล่านั้นไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใด เราจึงคาดหวังว่าสิ่งที่ได้ร่วมกันทำออกมานี้จะสามารถนำไปใช้ได้จริงๆ” ฉิก ระบุ

ด้าน เชาวนนท์ โสภณสกุลสุข หรือ “ปาย” นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานประธานโครงการ YEEP! บอกเล่าถึงที่มาในการเข้ามามีส่วนร่วมกับ 1 ใน 3 กลุ่มประเด็นของ SWG for NHA โดยได้สนใจเลือกหัวข้อการสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมองว่าเป็นประเด็นที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจมองว่าไกลตัวและให้ความสนใจน้อย จึงเป็นความท้าทายในการที่จะทำให้ผู้คนได้เห็นว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพนั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน
 

เชาวนนท์ โสภณสกุลสุข


ทั้งนี้ หลังจากที่ปายและทีมงาน ซึ่งเป็นเพื่อนๆ นิสิตนักศึกษาแพทย์จากหลากหลายสถาบัน ได้ร่วมกันคิดรูปแบบและกระบวนการจัดกิจกรรม จนได้ออกมาเป็นโครงการ YEEP! ที่ประกอบด้วยการ Workshop เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วม นำไปต่อยอดในการสร้างสรรค์ร่างเสนอนโยบายเฉพาะประเด็น (Policy Brief) และนำมาสู่การนำเสนอให้กับผู้ทรงคุณวุฒิตัดสินในวัน Pitching Day ซึ่งปายย้ำว่ากิจกรรมทั้งหมดดำเนินอยู่บนหลักการที่จะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการแข่งขัน

เขายอมรับว่ากิจกรรมนี้ได้รับความสนใจเกินความคาดหมาย จากเยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมมาถึง 148 ทีม ก่อนจะต้องทำการคัดเหลือ 29 ทีม และตัดสินออกมาเป็น 10 ทีมสุดท้ายที่เข้าสู่การนำเสนอนโยบายใน Pitching Day ซึ่งทั้งหมดล้วนทำให้เห็นถึงไอเดียที่หลากหลาย และความสามารถของเยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมกันเสนอหนทางแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์ และอยู่บนหลักฐานเชิงวิชาการที่น่าเชื่อถือ

นิสิตแพทย์รายนี้ ระบุว่า เป้าหมายหลักของการจัดงานนี้อยู่บนความคาดหวังในการสร้างความสำคัญของ 3 ด้าน คือ การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย การมีส่วนร่วมของเยาวชนที่มีความหมาย และการแก้ไขปัญหาสุขภาวะสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าการจัดกิจกรรมที่ผ่านมานี้ ทีมงานทั้งหมดได้ร่วมกันทำอย่างเต็มที่ และสัมฤทธิ์ผลในการที่ได้ทำให้เสียงของเยาวชนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการร่างนโยบายสาธารณะแล้ว แม้อาจจะไม่ได้เข้าไปอยู่ในขั้นสุดท้ายของร่างนโยบาย แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นข้อมูลที่เข้าไปประกอบในการพิจารณา

“ตรงนี้เราได้ทำเต็มที่และจบแล้ว ส่วนหลังจากนี้จะเกิดการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ ตรงนี้จะเป็นความร่วมมือของทั้ง สช. สมัชชาสุขภาพฯ และผู้ใหญ่ที่อยู่ในส่วนต่างๆ รวมถึงเยาวชนทุกคน ที่จะร่วมกันทำให้เสียงของเยาวชนไม่ได้จบแค่ที่งานนี้ แต่ส่งเสริมให้การมีส่วนร่วมยังคงเกิดขึ้นต่อไปได้หลังจากนี้ เพื่อให้ได้มีไอเดียที่หลากหลายในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ต่อไป” ประธานโครงการ YEEP! ทิ้งท้าย
 

YEEP

 

YEEP-Youth Engagement for Environmental Policy

 

YEEP-1

 

YEEP-2

 

YEEP-3

 

YEEP-4

 

YEEP-5

 

YEEP-5

 

YEEP-6


 

รูปภาพ
Youth Engagement for Environmental Policy