สช. MOU ร่วมกับ 2 สถาบันการศึกษาชั้นนำ ปั้นนักวิชาการ HIA ภาคเหนือตอนบน ช่วยประเมินผลกระทบสุขภาพประชาชน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file
สช. MOU ร่วมกับ 2 สถาบันการศึกษาชั้นนำ


เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ลงนามในบันทึกความร่วมมือ 2 ฉบับ กับ 2 สถาบันการศึกษาชั้นนำ “ม.เชียงใหม่-ราชภัฏเชียงใหม่” ตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรด้าน HIA ช่วยประเมินผลกระทบสุขภาพชุมชน สร้างความสมดุลโครงการพัฒนา

ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาบุคลากรและการจัดการความรู้ด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 เพื่อผลิตนักวิชาการที่มีความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือ HIA ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญระดับพื้นที่-ชุมชน ในการสร้างสมดุลระหว่างโครงการพัฒนากับสิทธิชุมชน และสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สะท้อนว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่เพียงแค่มดหมอหยูกยา หากแต่ยังสัมพันธ์กับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ อย่างเป็นเนื้อเดียว ขณะเดียวกันทุกวันนี้ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่รอดำเนินงานอยู่อีกมาก ทั้งจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาได้นำไปสู่การเผชิญหน้าและความขัดแย้งในพื้นที่ด้วย
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


อย่างก็ดี เพื่อแสวงหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการพัฒนา ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานราชการ จำเป็นต้องมีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมโดยมีวิชาการเป็นหลังพิง ซึ่งเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 อย่าง HIA จะเข้ามาช่วยสร้างทางเลือกอันหลากหลายให้กับพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความขัดแย้ง หรือการเผชิญหน้าลงได้

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญในการจัดทำ HIA คือองค์ความรู้ จึงต้องอาศัยพลังของนักวิชาการและสถาบันการศึกษาที่คนในพื้นที่ยอมรับ ฉะนั้นบันทึกความร่วมมือทั้ง ฉบับในวันนี้ที่เกิดขึ้นจาก สช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จะช่วยให้งาน HIA ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีความเข้มแข็งในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนและประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 

นิเวศน์ นันทจิต


ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มช. กล่าวว่า มช. เป็นสถาบันทางวิชาการ เล็งเห็นถึงความสำคัญของ HIA ในฐานะเครื่องมือทางวิชาการ สนับสนุนการมีส่วนร่วม และตัดสินใจในกระบวนการนโยบายทางสาธารณะ โดย มช. ยินดีและสนับสนุนความร่วมมือครั้งนี้ โดยมีคณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ และขับเคลื่อนการพัฒนาเครือข่ายวิชาการร่วมกับคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย และขยายออกสู่ภายนอก รวมทั้งเชื่อมโยงกับเครือข่ายในพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ  ในประเทศไทย
 

สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์


ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มช. กล่าวว่า มช. มีแนวคิดในการร่วมกันพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการฯ ขึ้นที่ภาคเหนือตอนบน ร่วมกับ สช. และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 1. การพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนทางวิชาการ การสร้าง-จัดการองค์ความรู้เรื่อง HIA 2. การจัดสร้างพลัง-แกนนำ-บุคลากรทั้งในภาควิชาการ ท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 3. การเชื่อมโยง-สนับสนุนเครื่องมือ HIA มาใช้กำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อปกป้องสุขภาวะของประชาชน
 

ชาตรี มณีโกศล


รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาการแทนอธิบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อสุขภาพดีก็จะส่งผลดีต่อปัจจัยในด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาคน เศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ ขณะที่พันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่คือการสร้าง-ถ่ายทอดองค์ความรู้-นวัตกรรมที่มีคุณค่าผ่านการวิจัยและดำเนินการทางด้านวิชาการ จึงสอดคล้องกับ HIA และเป็นไปตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย คือการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงภารกิจที่จะเข้าไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับท้องถิ่น

การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีความยินดีและสนับสนุนการพัฒนาและระบบกลไกทางด้านสุขภาพ โดยมอบหมายงานให้คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในเรื่องนี้ รวมถึงคณาจารย์ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์จะเข้ามาร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมนี้ให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้”  รศ.ดร.ชาตรี กล่าว
 

ชูชัย ศุภวงศ์


นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า กระบวนการ HIA เป็นเรื่องของทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งในอนาคต HIA จะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเครือข่ายในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังสามารถขยายความร่วมมือไปนอกประเทศในระดับอาเซียนได้ เพราะทรัพยากรทางธรรมและสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงถึงกันหมด ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การเริ่มต้นในวันนี้จะนำไปสู่การทำงานที่สำคัญในอนาคต

เครือข่ายทางวิชาการเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เชื่อว่า HIA มีพลานุภาพมากพอที่จะปกป้องคุ้มครองสุขภาพของชุมชน ผู้คน ประชาชนทุกคนนพ.ชูชัย กล่าว
 

ประเมินผลกระทบสุขภาพประชาชน


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141
 

รูปภาพ
สช. MOU ร่วมกับ 2 สถาบันการศึกษาชั้นนำ