สช.ดึง ‘ม.นเรศวร’ เป็นแกนหลักพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ขับเคลื่อนงานวิชาการ-พัฒนาศักยภาพการประเมิน ‘HIA’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

สช.ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ ม.นเรศวร สนับสนุนการพัฒนาบุคลากร-จัดการความรู้ด้านการประเมินผลกระทบสุขภาพ “HIA” หนุนเป็นแกนหลักในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง หวังยกระดับการใช้เครื่องมือทางนโยบายสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ลดความขัดแย้ง-การเผชิญหน้า สู่การหาข้อสรุปที่สร้างสรรค์
 

็HIA


เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาบุคลากรและการจัดการความรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนการขับเคลื่อน HIA ของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานด้านสุขภาพและวิชาการที่เกี่ยวข้องภายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 และ 3 ร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับความร่วมมือดังกล่าว ม.นเรศวร จะสนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้าน HIA โดยการจัดอบรมทั้งระยะสั้น ระยะยาว และเชื่อมโยงกับการศึกษาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและส่งเสริมการจัดการงานวิจัย และการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน HIA ทั้งของนิสิต นักศึกษา และเครือข่ายนักวิชาการ สนับสนุนและส่งเสริมการนำกระบวนการ HIA ไปใช้เป็นเครื่องมือการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานในพื้นที่เพื่อการดำเนินงาน HIA

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า กลไกการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ HIA เป็นเครื่องมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้าของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปที่สร้างสรรค์ร่วมกันต่อกิจกรรม นโยบาย หรือโครงการพัฒนาใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ที่สะท้อนชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างเรื่องของสุขภาพ กับมิติอื่นๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

ประทีป ธนกิจเจริญ

นพ.ประทีป กล่าวว่า การดำเนินงานด้าน HIA จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต้องการนักวิชาการที่มีจิตใจสาธารณะในการดำเนินการ รวมถึงสถาบันวิชาการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในพื้นที่ ซึ่ง ม.นเรศวร จะสามารถเป็นศูนย์กลางทางวิชาการของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนางาน HIA ทั้งเป็นแหล่งผลิตและพัฒนาศักยภาพด้านกำลังคน เป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ รวมทั้งเป็นแหล่งสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่

“ที่ผ่านมา สช. และภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมกันจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 3 แล้วเสร็จ และมีการประกาศใช้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมสนับสนุนเครือข่ายสถาบันวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA Consortium ตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ HIA ในระยะต่อไป เช่นเดียวกับความร่วมมือครั้งนี้ที่เชื่อว่าจะทำให้งาน HIA ในภาคเหนือตอนล่างมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลสุขภาพของประชาชนได้ดียิ่งขึ้นต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) กล่าวว่า การขับเคลื่อน HIA ในระยะถัดไป จะมุ่งเน้นการหนุนเสริมกลไกต่างๆ ให้สามารถทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และใช้ HIA เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ จึงจำเป็นต้องมีกลไกทางด้านวิชาการ สร้างองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีเครือข่ายต่างๆ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิชาการทั้งในระดับภาคและระดับชาติเข้ามาเป็นกลไกสนับสนุน

ชูชัย ศุภวงศ์

นพ.ชูชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง สช. ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือร่วมกับสถาบันวิชาการรวม 6 แห่ง ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เนื่องจากการพัฒนาบุคลากรและสร้างองค์ความรู้ในเรื่องนี้ นับเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนากลไก HIA ในระยะต่อไป เพื่อให้เครื่องมือนี้สามารถถูกนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับความร่วมมือกับ ม.นเรศวร ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายวิชาการด้าน HIA ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง อันจะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางหน่วยงานภายใน ม.นเรศวร ซึ่งประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะสังคมศาสตร์ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 และ 3 จัดตั้งศูนย์พัฒนาวิชาการด้านการประเมินผลกระทบสุขภาพ ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งดูแลรับผิดชอบงานวิชาการด้าน HIA ใน 10 จังหวัด โดยที่ ม.นเรศวร จะเป็นแกนนำในการดำเนินงาน

ศิริเกษม ศิริลักษณ์

ศ.ดร.นพ.ศิริเกษม กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานมาแล้วระยะหนึ่ง โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่สนับสนุนและประสานงาน พร้อมคณะทำงานย่อยเพื่อดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะกรรมการได้เข้ารับการอบรมเพิ่มศักยภาพด้าน HIA พร้อมดำเนินการจัดทำ HIA Research Mapping ภายในพื้นที่ไปแล้ว โดยหลังจากการลงนามในครั้งนี้ก็จะมีการขับเคลื่อนในระยะต่างๆ ร่วมกันต่อไป

ด้าน รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของสุขภาพนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เพราะการที่ประชาชนมีสุขภาพดี ย่อมส่งผลต่อการดำเนินงาน การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เป็นไปได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่าน ที่เราต้องประสบกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี

“หากเราพัฒนาบุคลากรและภาคีเครือข่ายทางวิชาการ ที่มีความรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน ก็จะส่งผลให้เรามีข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนเกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาพของประเทศได้ดียิ่งขึ้น และเป็นกลไกหนึ่งที่จะส่งเสริมให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้ดีมากขึ้น” รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ กล่าว

ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
HIA