การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน ตามนัยมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบกับมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจึงได้มีประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๒ หลักเกณฑ์ฉบับดังกล่าวเอื้อให้เกิดพัฒนาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในหลายลักษณะ แต่การดำเนินการตามหลักเกณฑ์ยังเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ขาดการนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบอื่นๆ ให้เหมาะสมตามบริบทของนโยบายสาธารณะและพื้นที่ปฏิบัติการที่หลากหลาย อีกทั้ง นโยบาย โครงการ กิจกรรมการพัฒนา และกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ฉบับดังกล่าว และออกประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ ให้มีลักษณะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมได้กว้างขวางมากขึ้น โดยมุ่งเน้นในเชิงหลักการ แนวคิดของการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นสำคัญ