การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
ด้วยพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ให้การรับรองสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพของประชาชนไว้ใน ๓ มาตรา ได้แก่ ๑) มาตรา ๕ บัญญัติไว้ว่า บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมทั้งมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อม ๒) มาตรา ๑๐ บัญญัติไว้ว่าเมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว และการเปิดเผยข้อมูลต้องไม่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ๓) มาตรา ๑๑ บัญญัติไว้ว่า บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลคำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว
รู้จักการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม เพื่อให้ประชาชน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ได้เรียนรู้ร่วมกันในการวิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพ เหตุและปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการนโยบายสาธารณะทั้งทางลบ ทางบวก และความเป็นธรรมจากการได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะดังกล่าว โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือที่หลากหลายและมีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจที่จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพสามารถนำไปปรับใช้กับกระบวนการนโยบายสาธารณะได้ใน ๒ ระดับหลัก คือ
การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในระดับนโยบาย ซึ่งรวมถึงยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้ในนโยบาย หรือกำหนดเอาไว้ในการตอบสนองต่อหลายนโยบายของหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่จัดการภารกิจตอบสนองต่อสาธารณะ เช่น การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ทางด้านสังคมและสุขภาพ การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาพลังงานของประเทศ การกำหนดนโยบายการค้าเสรีหรือการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า การจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงข่ายการขนส่งคมนาคม การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสินแร่ เหมืองแร่ การจัดทำและปรับปรุงผังเมืองที่อาจนำมาซึ่งโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงในอนาคต การวางแผนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดในพื้นที่ที่มีคุณค่าทางการอนุรักษ์ เช่น พื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ พื้นที่ที่มีความเปราะบางทางด้านระบบนิเวศ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติและระดับนานาชาติ การจัดทำแผนภูมิภาค (เช่น แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค) การกำหนดนโยบายและหรือการวางแผนการเพาะปลูก การเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน การกำหนดนโยบายและหรือการวางแผนทำการเกษตรขนาดใหญ่
การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในระดับโครงการ กิจกรรมซึ่งดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในระดับชุมชนท้องถิ่นใน ๒ ลักษณะ ได้แก่
๒.๑) การประยุกต์ใช้ภายใต้กฎระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพหรือใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ของโครงการหรือกิจกรรมก่อนดำเนินการ ซึ่งการประยุกต์ใช้ดังกล่าว มักจะมีการออกข้อกำหนดตามกฎหมายนั้นๆ เป็นการเฉพาะ เช่น โครงการหรือกิจกรรมที่มีประเภทและขนาดตามประกาศโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบของกฎระเบียบก่อนการบังคับใช้ (Regulatory Impact Assessment: RIA) การจัดทำเอกสาร คู่มือการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) หรือประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: COP) ของหน่วยงานองค์กรต่างๆ เป็นต้น โดยในมาตรา ๒๕ (๕) บัญญัติให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับระบบสุขภาพแห่งชาติและผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ภายหลังจากการประกาศใช้หลักเกณฑ์ฉบับดังกล่าวมาระยะหนึ่ง
๒.๒) การประยุกต์ใช้กับโครงการหรือกิจกรรมอื่นใด ที่ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพก่อนดำเนินการ เช่น การพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับเขต การพัฒนาคุณภาพระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพระดับอำเภอ โรงไฟฟ้าขนาดต่ำกว่า ๑๐ เมกะวัตต์ สถานประกอบการคอนกรีตสำเร็จรูป อุตสาหกรรมการผลิตผสมปุ๋ย การเพาะปลูกหรือทำการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ โครงการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ตามมาตรา ๒๕ (๕) ที่บัญญัติให้ “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานและมีองค์ประกอบของคณะกรรมการตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ นอกจากจะกำหนดให้มีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับระบบสุขภาพแห่งชาติและผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการแล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ได้นำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไปประยุกต์ใช้ เช่น กำหนดให้การจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติเพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนต่อไป ซึ่งในธรรมนูญสุขภาพฯได้กำหนดเนื้อหาในเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ ไว้ในหมวด ๔ อีกทั้งการมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ และติดตามผลการดำเนินงานที่ได้เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาดังกล่าว พร้อมทั้งเปิดเผยให้สาธารณชนทราบด้วย จึงเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในระดับนโยบาย
เพื่อเป็นการกลั่นกรองข้อเสนอเชิงนโยบายก่อนเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งการพิจารณาให้การสนับสนุนภาคีเครือข่ายในการดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจึงได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” ขึ้น โดยมี “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)” เป็นฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการฯ ชุดนี้ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาทั้งระบบกลไก หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ การดำเนินการตามหลักเกณฑ์ฯ และดำเนินงานอื่นใดที่มีความเกี่ยวข้อง บนหลักการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นอกจากทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกฯ ข้างต้นแล้วยังมีหน้าที่ขับเคลื่อนให้ภาคีทุกภาคส่วนได้ทราบและนำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยดำเนินการ
๑ ประสานหรือประชาสัมพันธ์แก่ภาคีภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ทราบถึงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและแนวทางการประยุกต์ใช้ที่สอดประสานไปกับการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย
๒ เชิญชวนภาคีภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ในประเด็นนโยบาย แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมที่น่าสนใจในการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่การริเริ่มกระบวนการ จนถึงขั้นตอนการติดตามตรวจสอบและประเมินผล
๓ เสริมหนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคส่วนที่มีขีดจำกัดในการประยุกต์ใช้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม เป็นธรรม
- 4666 views